ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนและสิงคโปร์ร่วมมือริเริ่มการใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการดูแลรักษาโรคเบาหวานเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) หลายรูปแบบชิ้นแรกของโลกที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับโรคเรื้อรังที่พบได้มากชนิดนี้
รายงานคาดว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกในปี 2021 ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ภูมิภาคเหล่านี้มักเผชิญกับการขาดแคลนแพทย์ระดับปฐมภูมิ และสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้อย่างจำกัด
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ร่วมพัฒนาระบบที่คล้ายกับจีพีที-4 (GPT-4) ที่สามารถให้คำแนะนำการจัดการโรคเบาหวานเฉพาะบุคคลสำหรับแพทย์ระดับปฐมภูมิได้
การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมดิซีน (Nature Medicine) เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าแพลตฟอร์มรูปภาพ+ภาษา หรือดีพดีอาร์-แอลแอลเอ็ม (DeepDR-LLM) ได้รับการออกแบบมาสำหรับใช้ประโยชน์จากพลังของโมเดลภาษาขนาดใหญ่และการเรียนรู้เชิงลึก เพื่อมอบโซลูชันสำหรับการวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์ และมอบคำแนะนำการรักษาที่เหมาะสม
ทีมงานใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์ส (open-source LLM) ซึ่งใช้คำแนะนำด้านการจัดการ 371,763 รายการจากผู้เข้าร่วม 267,730 คน จากนั้นจึงตรวจสอบโมดูลรูปภาพโดยใช้ชุดข้อมูล 21 ชุดที่มีภาพจอตาแบบมาตรฐาน หรือโอนย้ายได้จาก 7 ประเทศ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ อินเดีย ไทย สหราชอาณาจักร แอลจีเรีย และอุซเบกิซสถาน
การศึกษาระบุว่า ระบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับแพทย์ระดับปฐมภูมิเมื่อใช้งานในภาษาอังกฤษ และมีประสิทธิภาพสูงกว่าเมื่อใช้งานในภาษาจีน ขณะที่ความแม่นยำเฉลี่ยของแพทย์ระดับปฐมภูมิในการระบุโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแบบไม่ได้ใช้ระบบอยู่ที่ร้อยละ 81 และมีความแม่นยำเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 92.3 เมื่อใช้ระบบ
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยสนับสนุนการประยุกต์ใช้ระบบดังกล่าวในเกณฑ์การดูแลรักษาโรคเบาหวานเบื้องต้น เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยและการรักษาอย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว