ทีมนักวิจัยทางบรรพชีวินวิทยาของจีนจากพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติเจ้อเจียง ได้ระบุชนิดของไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัส (tyrannosaur) สายพันธุ์ใหม่ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสเมื่อราว 72-66 ล้านปีก่อน และได้ตั้งชื่อไดโนเสาร์ตัวนี้ว่า “เอเชียไทแรนนัส สวี” (Asiatyrannus xui) เพื่อเป็นเกียรติแก่สวีซิง นักวิจัยชาวจีนผู้มุ่งมั่นทำวิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์
เจิ้งเหวินเจี๋ย นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ เผยว่าตัวอย่างฟอสซิลที่ทำการวิจัย ประกอบด้วยส่วนกะโหลกที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ กระดูกสันหลังส่วนหาง และกระดูกขาหลัง ซึ่งถือเป็นไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัสจมูก และปากลึก (deep-snouted) ตัวแรกที่ค้นพบในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ขณะที่การวิเคราะห์ทางมิญชวิทยาหรือ จุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อ เผยว่าตัวอย่างต้นแบบของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ไม่ใช่ตัวที่โตเต็มวัย แต่ได้ผ่านช่วงระยะการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดมาแล้ว
เจิ้งเสริมว่าหัวกะโหลกยาว 47.5 เซนติเมตร และลำตัวยาวราวครึ่งหนึ่งของไดโนเสาร์เฉียนโจวซอรัส (Qianzhousaurus) ซึ่งคาดว่าอาจมีขนาดยาวถึง 9 เมตรในระยะการเจริญพันธุ์เดียวกัน
ไดโนเสาร์ไทแรนซอรัสยุคแรกปรากฏขึ้นในยุคจูราสสิกตอนกลาง หรือเมื่อ 165 ล้านปีก่อน และได้กลายมาเป็นนักล่าชั้นยอดในระบบนิเวศของพวกมันในเอเชียและอเมริกาเหนือช่วง 20 ล้านปีสุดท้ายของยุคครีเทเชียส
อนึ่ง การค้นพบดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ในวารสารไซเอนทิฟิก รีพอร์ตส (Scientific Reports) เมื่อไม่นานนี้
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว