xs
xsm
sm
md
lg

เพราะเหตุใด? “จอฟ้ามรณะ” ปั่นป่วนทั่วโลก แต่จีนรอดมาได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้โดยสารยืนแกร่วอยู่ที่สนามบินนานาชาติมาดริด-บาราคัส ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน เนื่องจากการขัดข้องของระบบการสื่อสารทั่วโลก ซึ่งเกิดจากบริษัทคราวด์สไตรก์ ผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่บริษัทไมโครซอฟท์ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 - ภาพ : VCG
จีนแทบไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ “จอฟ้ามรณะ” (blue screen of death) หรือระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของบริษัทไมโครซอฟท์แห่งสหรัฐอเมริกาล่มเมื่อวันศุกร์ (19 ก.ค.) ผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรชี้ว่า ความเป็นอิสระและการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีของจีนนี่แหละคือเกราะกำบัง

เหตุการณ์ความล้มเหลวทางเทคโนโลยีระดับโลกครั้งนี้มาจากสาเหตุคราวด์สไตรก์ (CrowdStrike) บริษัทเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ของสหรัฐฯ มีปัญหาในการอัปเดต "ฟอลคอน เซ็นเซอร์" (Falcon Sensor) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ตรวจจับการแฮกข้อมูล ทำให้ผู้ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ด้วยระบบปฏิบัติการวินโดวส์เข้าใช้งานวินโดวส์ไม่ได้ ซึ่งมีผลกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ราว 8 ล้าน 5 แสนเครื่องทั่วโลก ตามรายงานของรอยเตอร์

แต่ในประเทศจีนสิ่งอำนวยความสะดวกหลักทั่วแผ่นดินใหญ่ เช่น สนามบิน ธนาคาร บริการของรัฐ และระบบการชำระเงินยังคงดำเนินการได้ตามปกติ รวมถึงเครือโรงแรมในประเทศ เช่น Home Inn และ H World International ยกเว้นเครือโรงแรมระดับนานาชาติเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

นายหวัง เลี่ยจวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากบริษัทฉือ-อันซินเทคโนโลยีกรุ๊ปจำกัด (QI-ANXIN Technology Group Inc.) ระบุว่า วิสาหกิจส่วนใหญ่ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่บริษัทต่างชาติ หรือสาขาที่เปิดในจีนอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อาจติดตั้งระบบของคราวด์สไตรก์

ตามรายงานของ yicai.com เทคโนโลยีการป้องกันของคราวด์สไตรก์ ซึ่งทำงานบนระบบคลาวด์นั้นไม่มีขายบนจีนแผ่นดินใหญ่


พนักงานของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์รออยู่ที่หน้าจอสีฟ้าแสดงข้อผิดพลาดหยุดการทำงานอย่างสิ้นเชิงภายในอาคารผู้โดยสาร C ของสนามบินนานาชาตินวร์กในเมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา หลังจากที่ยูไนเต็ดแอร์ไลน์และสายการบินอื่นๆ หยุดให้บริการเที่ยวบินเนื่องจากการขัดข้องทางเทคโนโลยีทั่วโลกอันเกิดจากปัญหาการอัปเดตซอฟต์แวร์ Falcon Sensor ของบริษัท CrowdStrike ซึ่งทำให้ระบบ Microsoft Windows ขัดข้องเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 – ภาพ : รอยเตอร์
นายเซียว ซินกวง สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีนและหัวหน้าสถาปนิกซอฟต์แวร์จาก Antiy บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีนกล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจีนมีการใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์อย่างกว้างขวาง แต่แทบไม่ได้รับผลกระทบก็เพราะผู้ใช้ชาวจีนสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันของจีนเอง

นายหวัง เผิง นักวิจัยของสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีนระบุว่า บริษัทในจีนใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสในประเทศเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้น้อยกว่า ภูมิคุ้มกันต่อเหตุการณ์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ล่มทั่วโลกครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีน

ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ผลกระทบที่จำกัดนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่จีนริเริ่มใช้ของที่ผลิตขึ้นเองในประเทศมาทดแทนของที่ผลิตจากต่างประเทศแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์ ระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ประยุกต์


ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ เปิดฉากกับจีน โดยขัดขวางไม่ให้จีนเข้าถึงอุปกรณ์และซอฟต์แวร์จากสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ กลับมีส่วนผลักดันให้จีนยกระดับความพยายามในการเป็นอิสระด้านเทคโนโลยี


พร้อมกับเตือนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำว่า ต้องลดการพึ่งพาบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ หากการอัปเดตซอฟต์แวร์แค่ตัวเดียวสามารถทำให้เครือข่ายของหลายประเทศเป็นอัมพาตได้ และหากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ กำหนดเป้าหมายไปที่ประเทศหนึ่งประเทศใดเพื่อการก่อวินาศกรรม ผลที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นเช่นไร ลองนึกดู

อ้างอิงข้อมูลจาก "Tech self-reliance helps shield China from Windows outage" ในโกลบอลไทมส์



กำลังโหลดความคิดเห็น