ธุรกิจสัตว์เลี้ยงในจีนกำลังเติบโตแข็งแกร่ง ด้วยปัจจัยหนุนจากกระแสความนิยม “เลี้ยงแมวเลี้ยงหมาไว้เป็นเพื่อน” กำลังมาแรงในหมู่ผู้สูงวัยและคนไม่แต่งงานในประเทศจีน ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็เริ่มมีค่านิยมเลี้ยงสัตว์เหมือนสมาชิกในครอบครัว
แพลตฟอร์มเสี่ยวหงซู (Xiaohongshu) ซึ่งคล้ายกับอินสตราแกรมรายงานว่า การเลี้ยงแมวและสุนัขกำลังเป็นหัวข้อสนทนาร้อนแรงที่สุดในหมู่คนเลี้ยงสัตว์ออนไลน์ โดยมีโพสต์ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 460 ล้านโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแดนมังกร
หากเปรียบเทียบระหว่างจำนวนประชากรจีนกับจำนวนแมวและสุนัข ที่เป็นสัตว์เลี้ยงจะพบว่า ในปี 2566 จีนมีจำนวนประชากรลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แต่แมวและสุนัขเลี้ยงกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และร้อยละ 6.8 รวมทั้งสิ้นกว่า 120 ล้านตัว
ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในจีน นายแจ็ก เบียน ผู้ก่อตั้ง ShiTa ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร ชี้ว่า ประชากรสูงวัยและประชากรโสดกลายเป็นผู้บริโภคหลักในธุรกิจสัตว์เลี้ยง ทำให้ความต้องการสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทัศนคติของคนจีนรุ่นใหม่ก็มีส่วนสำคัญ
ตาม รายงานข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงปี 2567 ซึ่งเผยแพร่โดยแพลตฟอร์มเสี่ยวหงซู ระบุว่า คนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 29 ปี ที่อาศัยในเมืองหลักและเมืองรอง กำลังค่อยๆ กลายเป็นกลุ่มกระแสหลักในการเลี้ยงสัตว์ และยังเปลี่ยนแนวคิดมาเป็นการเลี้ยงดูสัตว์ในฐานะเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการเผยแพร่แนวคิดที่ว่า ควรปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงให้เหมือนกับที่ปฏิบัติต่อตนเอง
นายแจ็ก เบียนแห่ง ShiTa ระบุว่า คนรุ่นมิลเลนเนียล ซึ่งเกิดระหว่างปี 2523-2538 และเจเนอเรชัน Z ซึ่งเกิดระหว่างปี 2538-2553 มองสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว ผลักดันให้เกิดการยกระดับการบริโภคอย่างต่อเนื่อง และเกิดอาชีพใหม่ในธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ เช่น นักสมุนไพรการแพทย์แผนจีน นักสืบสัตว์เลี้ยง และที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาสัตว์
สำหรับแพลตฟอร์มของเขานั้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ระดับไฮเอนด์ เช่น การรักษาสเต็มเซลล์ การให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา การประกันภัย และบริการถ่ายภาพการเดินทางสำหรับสัตว์เลี้ยง เข้าถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ และมีบริษัทสตาร์ทอัปเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงหลายร้อยแห่งเข้าร่วม
“ฉันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมากกว่าชีวิตทางสังคม และจะละทิ้งการสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเพื่อพวกเขา สุขภาพและความสุขของสัตว์เลี้ยงสำคัญมากสำหรับฉัน” ลั่ว ไอ้ผิง ทนายความหญิง อายุรุ่น 40 ปี ในเมืองกว่างโจวกล่าว
เธอเลี้ยงแมวตัวแรกเมื่อปี 2564 และตอนนี้มีแมวทั้งหมด 4 ตัว กับน้องหมาอีก 1 ตัว โดยแต่ละเดือนเสียค่าอาหารสัตว์กว่า 1,000 หยวน (ราว 5,000 บาท) ค่าขนมและของเล่นสำหรับน้องตูบน้องเหมียวอีกว่า 1,000 หยวน
“พูดตามตรง ฉันสนุกกับชีวิตโสดที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วย” ลั่วบอก
การให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาในจีนมีค่าบริการตั้งแต่ 100-500 หยวน (ราว 500-2,500 บาท) ต่อชั่วโมง
เหอ อี้ฉือ คุณครูหนุ่มโสด อายุรุ่น 30 ปี เลี้ยงสุนัข 3 ตัว และแมว 3 ตัว โดยแมวที่เขารับเลี้ยงตัวหนึ่งเมื่อปีที่แล้วเป็นแมวพิการ เขาคิดว่า เจ้าเหมียวคงรู้สึกโดดเดี่ยวเศร้าและเหงาเหมือนกับมนุษย์ จึงมีแผนไปขอคำปรึกษาด้านจิตวิทยา เผื่อจะช่วยให้เขาเข้าใจอารมณ์ของน้องและทำให้แมวตัวนี้มีความสุขมากขึ้น
ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษาการตลาด iiMedia Research นั้น แม้อัตราการเติบโตของธุรกิจสัตว์เลี้ยงแดนมังกรจะลดลงครึ่งหนึ่งจากจุดสูงสุดกว่าร้อยละ 33.5 ในปี 2563 แต่คาดว่า ธุรกิจจะมีมูลค่าถึง 811,400 ล้านหยวนในปี 2568 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากในปี 2566 และในปี 2563
ข้อมูลจาก "China’s pet economy being driven by elderly, singles dreaming of having cats and dogs" ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์