ผู้จัดจำหน่ายของบริษัท "หัวเว่ยเทคโนโลยีส์" เริ่มให้รายละเอียดกับลูกค้าเกี่ยวกับการประมวลผลที่ใช้ในสมาร์ทโฟนรุ่นสำคัญๆ ของหัวเว่ยกันแล้ว
เดี๋ยวนี้ใครไปเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือที่ร้านของหัวเว่ยในกรุงปักกิ่ง พนักงานของร้านจะบอกเลยว่า สมาร์ทโฟนซีรีส์ Mate 60 มี Kirin 9000s เป็นชิปประมวลผล ชิปนี้ออกแบบโดยไฮซิลิคอน (HiSilicon) บริษัทพัฒนาชิปในเครือของหัวเว่ย ข้อมูลดังกล่าวไม่แสดงต่อสาธารณะ หรือบนสมาร์ทโฟนเอง
เมื่อคราวเปิดตัวสมาร์ทโฟน Mate 60 Pro ในเดือนสิงหาคมปี 2566 ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนไม่ระบุชิปที่ใช้ จนกระทั่งมีผู้แกะชิ้นส่วนวิเคราะห์ จึงพบว่า ชิปขนาด 7 นาโนเมตรในเครื่องเป็น Kirin 9000s ซึ่งสามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบ 5G สร้างความฮือฮาในตลาด เพราะภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ หัวเว่ยไม่น่าจะผลิตชิป 5G ได้เอง อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยไม่เคยออกมายืนยันผลวิเคราะห์นั้นอย่างเป็นทางการ
ภายหลังการเปิดตัวสมาร์ทโฟนซีรีส์ Mate 60 เมื่อปีที่แล้ว ความก้าวหน้าด้านเซมิคอนดักเตอร์ของหัวเว่ยก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด สมาร์ทโฟนซีรีส์ Pura 70 ที่เปิดตัวเมื่อไม่นานก็ประมวลผลด้วยชิปผลิตจากกระบวนการ 7 นาโนเมตรแบบเดียวกับชิปใน Mate 60 ตามรายงานของ Teardown Reports
จากการวิเคราะห์ของ TechInsights ก่อนหน้าพบว่า ชิปขุมพลังของสมาร์ทโฟน Pura คือ HiSilicon 9000s และ Kirin 9010 มีบริษัทในเครือของหัวเว่ยเป็นผู้ออกแบบ และผลิตโดยบริษัท SMIC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของจีน ซึ่งผลิตชิปสำหรับ Mate 60 ด้วย
แม้จะมีความทะเยอทะยาน แต่หัวเว่ยก็แทบไม่เคยพูดต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการพยายามหาทางหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการของสหรัฐฯ เลย
จุดมุ่งหมายการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร ก็เพื่อสกัดกันความก้าวหน้าด้านเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ของจีน โดยวอชิงตันอ้างว่าเทคโนโลยีที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐฯ อาจตกไปอยู่ในมือของกองทัพจีน ก่อภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
ถึงแม้ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานจากการคว่ำบาตรอาจขัดขวางการเติบโตของหัวเว่ย แต่ตามรายงานของ TechInsights คาดกันว่า หัวเว่ยจะจัดส่งโทรศัพท์มือถือจำหน่ายในจีนมากกว่า 50 ล้านเครื่องในปีนี้ ทวงคืนบัลลังก์ในตลาดแดนมังกรด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 19 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 ในปี 2566
อ้างอิงข้อมูลจาก “Huawei smartphone chips no longer top secret as stores have green light to tell customers” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์