สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนรายงานว่าปริมาณการค้าระหว่างประเทศของจีน ช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบปีต่อปี รวมอยู่ที่ 21.17 ล้านล้านหยวน (ราว 105.85 ล้านล้านบาท) โดยการส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และร้อยละ 5.2
รายงานระบุว่า การนำเข้าและการส่งออกในไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้ และการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ของปีก่อน
อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน โดยปริมาณการค้าทวิภาคีในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3.36 ล้านล้านหยวน (ราว 16.8 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นร้อยละ 15.9 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ตามด้วยสหภาพยุโรปที่ 2.72 ล้านล้านหยวน (ราว 13.6 ล้านล้านบาท) สหรัฐฯ ที่ 2.29 ล้านล้านหยวน (ราว 11.45 ล้านล้านบาท) และเกาหลีใต้ที่ 1.13 ล้านล้านหยวน (ราว 5.65 ล้านล้านบาท)
ขณะเดียวกัน การค้าของจีนกับกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการค้าในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 10.03 ล้านล้านหยวน (ราว 50.15 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบปีต่อปี
รายงานเสริมว่า ผลิตภัณฑ์จักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นสินค้าส่งออกหลักของจีนในช่วงครึ่งปีแรก คิดเป็นเกือบร้อยละ 60 ของทั้งหมด โดยการส่งออกอุปกรณ์และอะไหล่การประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 การส่งออกแผงวงจรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 และการส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบปีต่อปี
นักเศรษฐศาสตร์ของซิตีกรุ๊ป ไชน่า (Citigroup China) คาดการณ์ว่าอุปสงค์ความต้องการจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มลดลงจะถูกชดเชยด้วยอุปสงค์ความต้องการจากกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างอาเซียน ละตินอเมริกา และกลุ่มบริกส์ โดยการส่งออกของจีนจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง กอปรกับห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมอันสมบูรณ์ของจีน ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการผลิตและเพิ่มข้อได้เปรียบแก่กลุ่มผู้ส่งออกในตลาดระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี เหล่านักวิเคราะห์กระตุ้นการติดตามผลกระทบจากภาวะกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น และเน้นย้ำความจำเป็นในการขยับขยายการค้าสินค้าตัวกลางและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้น
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว