xs
xsm
sm
md
lg

การต่อสู้การค้ากับจีน คนที่เจ็บตัวอาจเป็นชาวอเมริกันเอง กูรูฮาร์วาร์ดออกโรงเตือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แขนหุ่นยนต์กำลังประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าบริษัทลีปมอเตอร์ (Leapmotor) ของจีนที่โรงงานในเมืองจินหัว มณฑลเจ้อเจียง - ภาพ : รอยเตอร์
นักการเมืองซึ่งสนับสนุนการใช้ข้อจำกัดทางการค้า (trade restriction) จะต้องตกใจ เมื่อตื่นขึ้นมาพบกับความจริงในสิ่งที่ได้ทำลงไป

นายเคนเน็ท โรกอฟฟ์ (Kenneth Rogoff) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้ข้อคิดในบทความ ซึ่งเขาเขียนลงในเว็บไซต์ Project Syndicate
 
บทความมีเนื้อหาระบุว่า การตั้งกำแพงการค้าจีนให้สูงยิ่งขึ้นเป็นหัวข้อที่กำลังมาแรงทั้งจากพรรคการเมืองสองฝั่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมเครต ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าเป็นมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เช่นแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีน ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์แห่งพรรครีพับลิกันสัญญาว่า จะรีดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราสูงถึงร้อยละ 60 จากร้อยละ 10 ซึ่งเป็นอัตราทั่วไปที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าทั้งหมด
 
แต่นายโรกอฟฟ์ เตือนว่า การตั้งกำแพงกีดขวางการค้าเสรีกับมหาอำนาจแห่งเอเชียคือสูตรสำเร็จในการทำให้สินค้าในสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา และในทางการเมืองจะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงจากชาวอเมริกัน ซึ่งสูญเสียกำไรมากมายที่ควรได้รับจากการค้าเสรี แม้จะมองกันว่า การพยายามควบคุมอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นข้อได้เปรียบสำหรับคนงานในสหรัฐฯก็ตาม

 
“แม้การแข่งขันกับผู้ผลิตของจีนส่งผลเสียกับงานด้านการผลิตบางอย่าง แต่การค้าเสรีก็สร้างผู้ชนะมากกว่าผู้แพ้อย่างไม่ต้องสงสัย”


“ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภครายได้น้อยในสหรัฐฯ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากสินค้านำเข้าจากจีน” กูรูเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ระบุ


รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์สินค้านำเข้าจากจีนทะลักเข้าตลาดสหรัฐฯ จนส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตในประเทศและคนอเมริกันตกงานมากมาย (China Shock) ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นช่วงคริสต์ทศวรรษ2000 (พ.ศ.2543-2552) แต่การขึ้นภาษีนำเข้าก็เป็นทางเลือกที่เจ็บปวดเช่นกัน เพราะมีตลาดไม่กี่แห่งในโลกที่ผลิตสินค้าราคาถูกพอๆ กับจีน และสหรัฐฯ เองยังต้องพึ่งพาสินค้าสำคัญจากจีน เช่น เวชภัณฑ์ นอกจากนั้น จีนยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

 
แผนการส่งเสริมการผลิตในประเทศด้วยวิธีปิดกั้นการนำเข้านั้นยากจะประสบความสำเร็จ เขาจึงเห็นว่า สหรัฐฯ และจีนต้องประนีประนอมกันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของชาติทั้งสอง ซึ่งนายเจมี ไดมอน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารเจพีมอร์แกนเชสก็มีความคิดแบบเดียวกันนี้

 
ข้อมูลจาก “The US battle against Chinese trade could hurt the Americans it's supposed to protect, Harvard professor says” ในบิสซิเนสอินไซเดอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น