xs
xsm
sm
md
lg

New china insights : มองจีนสนับสนุน “การค้าการลงทุนไปต่างประเทศ” อย่างไร ไทยตั้งรับแล้วหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพกราฟิกแสดงกระแสการบุกลงทุนและการค้าของจีนในต่างประเทศรอบที่ 4 กำลังเริ่มขึ้น (ภาพจากสื่อจีน โซหู ดอท คอม)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล


ในหน้าสื่อข่าวของไทยมีการกล่าวถึงมากมายในประเด็น “สินค้าโอเวอร์ซัปพลาย” มหาศาลจากจีนกำลังถูกส่งออกไปขายทั่วโลก ภูมิภาคที่มีการหลั่งไหลของสินค้าจีนเข้ามามากที่สุดแห่งหนึ่งคือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั่นเอง

หากดูในมุมของตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศล่าสุดระหว่างจีนและอาเซียนใน 5 เดือนแรกของปีนี้ อาเซียนยังคงรักษาสถานะเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างอาเซียนและจีนอยู่ที่ 2.77 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อาเซียนมีสัดส่วนการค้ากับจีนคิดเป็น 15.8% ของมูลค่าการค้าของจีนทั้งหมด

จีนส่งสินค้าออกไปอาเซียนมากกว่านำเข้า โดยจีนส่งออกไปอาเซียน 1.67 ล้านล้านหยวน ในขณะที่นำเข้าจากอาเซียน 1.1 ล้านล้านหยวน อาเซียนขาดดุลการค้าจีนอยู่มากกว่า 5 ล้านล้านหยวน ในบรรดาสมาชิกอาเซียนทั้งหมดที่ทำมาค้าขายกับจีนมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ปัจจุบัน สินค้าหลายประเภทของจีนการผลิตล้นเกินเนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศลดลง เศรษฐกิจซบเซา การส่งออกไม่บูมเหมือนช่วงก่อนโควิดและกำแพงภาษีสินค้าจีนที่จะส่งไปสหรัฐฯ ยุโรป และอุปสรรคอื่นๆ มีมากขึ้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าจีนอาจจะกำลังเข้าสู่ยุค “ยุคโอเวอร์ซัปพลายแบบสุดขีด” (超级过剩时代) ทำให้หลังจากนี้ต่อไปเราจะได้เห็นจีนส่งออกสินค้าและลงทุนในอาเซียนมากยิ่งขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ 9 หน่วยงานรัฐในจีน รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์จีน ได้ออกแนวคิดเกี่ยวกับการขยายการส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนและส่งเสริมการสร้างคลังสินค้าของจีนในต่างประเทศ! โดยได้ชี้แนะรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ให้พึ่งพาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่จีนมีจุดเด่นและได้เปรียบอยู่ ต้องปรับตัวและรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมท้องถิ่นที่มีสินค้าคุณภาพ มีคุณสมบัติเหมาะสมส่งเสริมสร้างศูนย์แสดงสินค้าและคัดเลือกผลิตภัณฑ์ ร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และสร้าง "โซนสินค้าพิเศษ" (การนำสินค้าโอทอปขึ้นขายออนไลน์ข้ามพรมแดน)

โดยแนวทางหลักๆ ที่หน่วยงานราชการจีนพยายามสนับสนุนให้สินค้าจีนส่งออกทางออนไลน์ข้ามพรมแดนมากขึ้น มีดังต่อไปนี้


- สนับสนุนการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นการใช้หุ่นยนต์ AI เข้ามาช่วยทำงานตามขอบเขตกฎหมายและกฎข้อบังคับ ขยายช่องทางการขายผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์และวิธีการอื่นๆ และผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้เปรียบมากขึ้น

- สร้างระบบบริการทางการตลาดที่บูรณาการทางออนไลน์และออฟไลน์ และเชื่อมโยงในประเทศและต่างประเทศ

- สนับสนุนบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน "ไปร่วมงานนิทรรศการแสดงสินค้าในต่างประเทศ"

- สนับสนุนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซด้านการส่งออก การชำระเงิน โลจิสติกส์ คลังสินค้าในต่างประเทศ และเข้าร่วมในนิทรรศการสำคัญๆ เช่น งานนำเข้าและส่งออกของจีน (งานการค้าระหว่างประเทศที่จัดทุกปีที่กว่างโจว) และงาน Global Digital Trade Expo

- จัดโปรโมชันสินค้าจีนในต่างประเทศและกิจกรรมเชื่อมโยงสำหรับผลิตภัณฑ์หลักและตลาดหลัก

- ส่งเสริมให้ท้องถิ่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจัดระเบียบองค์กร ปรับตัว และเข้าร่วมในนิทรรศการในต่างประเทศ และให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ สนับสนุนด้านการแสดงผลและเชื่อมต่อให้ต่างประเทศได้เห็นสินค้าและเลือกซื้อมากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของการร่วมมือระหว่างประเทศ จีนยังมีแนวคิด "อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม" เสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศต่างๆ ในแถบเส้นทางสายไหมใหม่ เพื่อเชื่อมโยงกับข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีมาตรฐานสูงระดับสากล เช่น ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (CPTTP ) และกฎข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นต้น

ป้ายงานนิทรรศการนำเข้าและส่งออกกว่างโจว ที่จัดประจำทุกปีตั้งแต่ปี 1957 เป็นต้นมา
ผู้เขียนมองว่าตั้งแต่จีนเปิดประเทศหลังโควิด เป้าหมายเศรษฐกิจและการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จีนเริ่มปรับแนวทางการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจ จากแนวทางที่ค่อนข้างสงวนท่าทีไปสู่การเปิดกว้างที่มากขึ้น เราเห็นได้จากนโยบายฟรีวีซ่าระหว่างประเทศต่างๆ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 

บรรดารัฐบาลท้องถิ่นในหลายเมืองของจีนให้ข้อเสนอที่ดึงดูด หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนเอกชนให้ออกไปลงทุนหรือเอาสินค้าไปขายต่างประเทศตามเส้นทางต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลเมืองหลงก่างของมณฑลเจ้อเจียงยินดีที่จะให้เงินสนับสนุนบริษัทเอกชนไปตั้งบูทแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยจะให้เป็นเงินสนับสนุนค่าเช่าบูท 80% สมมติว่าบริษัทหนึ่งในเมืองหลงก่างมาตั้งบูทแสดงสินค้าในไทย ค่าเช่าบูท 1 แสนบาท รัฐบาลออกเงินให้ 80,000 บาท บริษัทออกเงินเองเพียง 20,000 บาทเท่านั้น

ในด้านค่าใช้จ่ายการออกไปทำตลาดในต่างประเทศรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละเมืองยังมีเงินสนับสนุนที่แตกต่างกันไปด้วย แต่โดยรวมคือขณะนี้บรรดารัฐบาลท้องถิ่นในจีนสนับสนุนบริษัทเอกชนจีนออกไปลงทุนและทำการตลาดด้านสินค้าในตลาดต่างประเทศอย่างมาก มีการสนับสนุนภาคเอกชนและบริษัทต่างๆ ออกไปต่างประเทศ ทั้งการลงทุนและการค้า แน่นอนว่าบริษัทเอกชนออกไปมาก ทำธุรกิจในต่างประเทศได้ดีก็เป็นหน้าเป็นตาเป็นผลงานของรัฐบาลท้องถิ่นนั้นๆ เอาผลงานไปแสดงต่อรัฐบาลกลางต่อไป

อีกมณฑลหนึ่งที่สนับสนุนให้บริษัทออกไปต่างประเทศอย่างแข็งขันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ “มณฑลซานตง” ได้ส่งเสริม "จัดกลุ่มผู้ประกอบการไปต่างประเทศ" และส่งเสริมแบรนด์ "Goodproduct by Shandong" โดยได้จัดตั้งองค์กรที่มีผู้ประกอบการในมณฑลมากกว่า 6,500 แห่งเข้าร่วม ส่งเสริมและดำเนินการพัฒนาตลาดต่างประเทศ จัดกิจกรรมนิทรรศการและการเจรจาในประเทศและต่างประเทศ เช่น เทศกาลการจัดซื้อจัดจ้างระดับนานาชาติ ช่วยให้บริษัทต่างๆ ขยายตลาด เพิ่มคำสั่งซื้อและเพิ่มส่วนแบ่ง ในปี 2024 มณฑลซานตงมีแผนจะจัดกิจกรรมนิทรรศการในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 263 โครงการ และในช่วง 5 เดือนแรกของปีมีการจัดนิทรรศการในต่างประเทศไปแล้ว 123 ครั้ง ในกลุ่มประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและอาร์เซ็ป

กระแสการลงทุนของจีนในต่างประเทศแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง
คือ ช่วงที่หนึ่ง หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ขณะนั้นสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศยังค่อนข้างสดใสสำหรับบริษัทจีน และตั้งแต่ปี 2001-2013 ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ทำให้บริษัทจีนโดยรวมมีเงินมากขึ้น บริษัทจีนที่เห็นโอกาสก็เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

ในช่วงที่สองคือหลังปี 2013 หลังจากที่จีนเสนอหลักแนวคิดและแนวทางการร่วมกับต่างประเทศในกรอบข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ถือเป็นแนวทางของรัฐบาลจากบนลงล่างสำหรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการไปลงทุนหรือเพิ่มการค้ากับต่างประเทศ จากสถิติการลงทุนโดยตรงจากจีนในต่างประเทศ หลังจากการเสนอโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กระแสการลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ช่วงที่สามของการขยายตัวในต่างประเทศของบริษัทจีนเริ่มขึ้นในปี 2017
เมื่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ขึ้นสู่อำนาจ ฝ่ายบริหารของทรัมป์เริ่มกำหนดอัตราภาษีนำเข้าระดับสูงสำหรับสินค้าจีน ทำให้การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับบริษัทจีน และเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ บริษัทจีนจึงต้องหาที่ลงทุนในประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคด้านภาษี ซึ่งเรียกการลงทุนประเภทนี้ว่า "การลงทุนข้ามการค้า" แต่ในความเป็นจริง ก่อนปี 2017 บริษัทเอกชนหลายแห่งของจีนได้สังเกตเห็นความไม่ชอบพามากลในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ บางส่วนได้เตรียมการในต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว!

กลุ่มนักธุรกิจชาวจีนเหมาลำเครื่องบินเดินทางไปดูงานที่ประเทศมาเลเซีย (ภาพจากสื่อจีนเทนเซนต์ นิวส์)
ช่วงที่สี่คือหลังจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2023 บริษัทจีนเริ่มกระตือรือร้นที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศที่มีความสัมพันธ์ดี) รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้ามากขึ้น เพราะแสวงโอกาสใหม่ๆ จากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศนั้นยากมาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนยังมองว่า โครงสร้างสินค้าจีนที่ส่งออกไปต่างประเทศเป็นสินค้าประเภทเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น และการที่จะรักษาแบรนด์ ต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจ การออกไปลงทุนหรือเพิ่มการค้ากับต่างประเทศเป็นเรื่องจำเป็นของบริษัทจีน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจีน (อีวี) ในไทยที่ตอนนี้ไหลทะลักลดราคาแล้วลดราคาอีก จนเกิดกระแสต้านจากผู้บริโภค ในประเด็นนี้ผู้เขียนเคยถกกับเพื่อนคนจีน พวกเขาต่างบอกกันว่า รถไฟฟ้าลดราคาลงมากอย่างรวดเร็วขนาดนี้ในจีนเป็นเรื่องปกติมาก เพราะมีหลายแบรนด์ การออกรุ่นรถใหม่ๆ ในตลาดมีถี่มาก ผู้บริโภคชาวจีนคุ้นชินกับภาวะการตลาดแบบนี้ แต่สำหรับผู้บริโภคไทยอาจจะยังไม่คุ้นชิน ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาว่า ในวันที่ทุนจีนบุกขยายเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่องแบบนี้ เราจะยอมเล่นในกติกาที่เขาตั้งขึ้น หรือเราจะเป็นคนตั้งกติกาเองเพื่อปกป้องผลประโยชน์! อาจจะต้องฝากให้หลายหน่วยงานลองคิดและทบทวน เพราะทุนจีนจะเข้ามาอีกมากมายแน่นอน ภายใต้การนำและสนับสนุนของรัฐบาลจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น