xs
xsm
sm
md
lg

จีนฟื้นชีพ “ขงจื่อ” สร้างสมานฉันท์ เผยแพร่อารยธรรมทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนจัดประชุมอารยธรรมโลก ณ บ้านเกิดของขงจื่อ นักปราชญ์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิด วิถีชีวิต วัฒนธรรม ตลอดจนแนวทางการบริหารรัฐของจีนและประเทศในเอเชียจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ขงจื่อเป็นนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลอยู่ในทุกอณูของคนจีนและสังคมจีน และยังแผ่ขยายไปยังเกาหลี ญี่ปุ่น และหลายประเทศกว่า 2,500 ปีให้หลังนักปราชญ์ผู้นี้ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งโดยรัฐบาลจีน การกลับมาของขงจื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อทั้งจีนและโลก

การประชุมฟอรั่มหนีซานครั้ง​ 10​ ว่าด้วยอารยธรรมโลก​ ประจำปี​ 2024​ (The​Tenth Nishan​ Forum​ on​ World​ Civilizations​ )​ เปิดฉากขึ้น​ ณ​ ภูเขาหนีซาน​ ที่​เมืองชวีฝู่ มณฑลซานตง​ ทางภาคตะวันออกของจีน​ เพื่อเป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางอารยธรรมโลก​

การประชุมหนีซานจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่เมืองชวีฝู่ มณฑลซานตง​ บ้านเกิดของขงจื่อ โดยปีนี้ มี​ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในจีนและต่างประเทศกว่า 400​ คนได้มาร่วมหารือด้านการแลกเปลี่ยนทางอารยธรรม​ระหว่างประเทศ​ภายใต้ความท้าทายระดับโลก​ ประยุกต์แนวคิดขงจื่อให้เข้ากับปัจจุบัน ผสาน​อารยธรรมจีนกับโลกตะวันตก รวมทั้งสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรม​ ปัญญาประดิษฐ์​ สถาบันครอบครัว​ การศึกษา​ และการยกระดับสิทธิบทบาทสตรี​


มหาปราชญ์ฟื้นชีพ ค้ำอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์

ในยุคแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์ปกครองจีน มีการรณรงค์เพื่อการล้างค่านิยมเก่าให้หมดไป โดยอ้างว่าคำสอนของขงจื่อเป็นเรื่องล้าหลัง ขัดขวางการพัฒนาประเทศ แต่เพียงไม่กี่สิบปีให้หลัง พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับมายกย่องขงจื่อ และส่งเสริมค่านิยมดั้งเดิม

รัฐบาลจีนมุ่งหวังจะขยาย “อำนาจละมุน” ผ่านทางภาษาและวัฒนธรรม มีการจัดตั้ง “สถาบันขงจื่อ” เพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่การเรียนภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนในต่างประเทศ ด้วยงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงปัจจุบัน สถาบันขงจื่อแพร่ขยายไปทั่วโลก และมีบทบาทแซงหน้าองค์กรในลักษณะเดียวกันของชาติตะวันตก ทั้งบริติสเคาท์ซิลของอังกฤษ อารียองฟรองเซ่ของฝรั่งเศส หรือสถาบันเกอร์เธ่ของเยอรมนี

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดตั้งสถาบันขงจื่อ และมีครูอาสาสมัครชาวจีนมากที่สุดในโลก แต่ละปีมีครูอาสาสมัครชาวจีนมาสอนที่ไทยมากกว่า 2,000 คน ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีครูอาสามาสมัครของสถาบันขงจื่อมายังประเทศไทยรวมหลายหมื่นคน สถาบันขงจื่อไม่เพียงสอนภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนให้นักเรียน แต่ยังขยายไปถึงกลุ่มข้าราชการ ตำรวจ รวมทั้งพระสงฆ์ด้วย

การฟื้นคืนชีพของขงจื่อโดยฝีมือของรัฐบาลจีน สามารถอ่านเหตุผลผ่านคำปราศรัยของอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ที่เคยบอกว่า “ขงจื่อสอนว่า ความสมานฉันท์เป็นหลักของการอยู่ร่วมกัน”

ขงจื่อเน้นเสมอว่า ทุกคนในโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบครอบครัวใหญ่ รัฐบาลจีนจึงหยิบยืมหลักความสมานฉันท์ ซึ่งเป็นแก่นหลักของคำสอนขงจื่อ เพื่อสื่อสารกับชาวโลกว่า จีนต้องการเติบโตอย่างสันติ และลบข้อครหาเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” ที่ชาติตะวันตกพยายามเขียนเสือให้วัวกลัว

การกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น ระหว่างพ่อแม่-ลูก พี่-น้อง เพื่อน- เพื่อน ผู้ใหญ่-ผู้น้อย รวมทั้งประชาชน-รัฐ คือหัวใจของคำสอนขงจื่อ ขงจื่อบอกว่าประชาชนพึงเชื่อฟังผู้ปกครอง หากผู้ปกครองไม่ดี สวรรค์จะถอนอาณัติการปกครองเอง คำสอนเช่นนี้รองรับอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างลงตัว


การรื้อฟื้นคำสอนของขงจื่อยังเป็น “หลักยึด” ในชีวิตให้คนรุ่นที่เผชิญกับกับการแข่งขันในชีวิตและการงาน หรือระบบที่ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม การมีหลักยึดทางใจจึงบรรเทาสภาวะ “สุญญากาศทางค่านิยม” ของชาวจีน

หลักการของสังคมนิยมจะปฏิเสธการเชิดชู “วีรบุรษ” การฟื้นฟูแนวคิดขงจื่อจึงเป็นทั้งยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความสมานฉันท์ภายในประเทศจีน และเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ของจีน การฟื้นคืนชีพของมหาปราชญ์จากยุคโบราณได้ส่งผลสะเทือนต่อทั้งปัจจุบันและอนาคต.


กำลังโหลดความคิดเห็น