แรงกดดันอย่างหนักจากสหรัฐฯ เพื่อสกัดไม่ให้จีนเติบโตด้านเทคโนโลยีชิปขั้นสูง ทำให้บริษัทเลือดมังกรหันมาขยายการลงทุนเพื่อผลิตชิปรุ่นเก่าแทน และพร้อมครองตลาดด้านนี้ในอนาคต
ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฮันเดิลส์บลัตต์ของเยอรมนีเมื่อวันจันทร์ (8 ก.ค.) นายคริสตอฟ ฟูเกต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ASML บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือผลิตชิปของเนเธอร์แลนด์ยอมรับว่า ทั่วโลกกำลังต้องการชิปรุ่นเก่า ซึ่งจีนกำลังผลิตอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี ต่างต้องการชิปจำนวนมากซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีที่มีความเรียบง่ายกว่าและเป็นที่รู้จักมายาวนาน อย่างไรก็ตาม การผลิตชิปรุ่นเก่าไม่ได้กำไรมากนัก และบริษัทตะวันตกเองก็ไม่ลงทุนผลิตมากพอ ส่วนยุโรปผลิตไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่งของที่ยุโรปต้องการด้วยซ้ำ
เป็นการให้สัมภาษณ์ ในช่วงเวลาเดียวกับที่คณะกรรมาธิการยุโรปเริ่มสำรวจความเห็นของบริษัทต่างๆ รวมถึง ASML เกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทจีนในการผลิตชิปรุ่นเก่า
ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตชิปของจีนกำลังถูกสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรร่วมมือกันจำกัดการส่งออกไม่ขายชิปขั้นสูงให้ โดยมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ได้ให้คำนิยามชิปรุ่นเก่า (legacy chips) ว่า หมายถึงชิปซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารุ่น "16 ถึง 14 นาโนเมตร"
ชิปขั้นสูงใช้ในการขับเคลื่อนแอปพลิเคชันล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ส่วนชิปรุ่นเก่าใช้ในการขับเคลื่อนอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัวเรือน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
การหันมาขยายการผลิตชิปรุ่นเก่าทำให้ชาติตะวันตกวิตกว่า อาจเกิดปัญหาชิปรุ่นเก่าล้นตลาดในระยะยาว ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตของตะวันตกเอง โดยนางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวที่เบลเยียมเมื่อเดือน เม.ย.ว่า ประมาณร้อยละ 60 ของชิปรุ่นเก่าที่เข้าตลาดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะเป็นชิปที่ผลิตในจีน
ตามการคาดการณ์ของกลุ่มอุตสาหกรรม SEMI นั้น ผู้ผลิตชิปของจีนจะเพิ่มกำลังการผลิตร้อยละ 14 ในปี 2568 ซึ่งมีอัตราเร็วกว่าชาติอื่นๆ ในโลกถึง 2 เท่า โดยจะผลิตแผ่นเวเฟอร์ได้ 10 ล้าน 1 แสนแผ่นต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของการผลิตทั้งหมดทั่วโลก
บริษัทวิจัยตลาด TrendForce ทำนายว่า บริษัทจีนแผ่นดินใหญ่อาจเป็นผู้เล่นหลักในตลาดชิปรุ่นเก่า รองจากบริษัทในไต้หวัน โดยมีสัดส่วนร้อยละ 33 ของตลาดภายในปี 2570
ที่มา : รอยเตอร์ / ฟอร์จูน