xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งในการลงทุนอสังหาฯ จีนที่พังไม่เป็นท่า “ฟอเรสต์ซิตี้” ในมาเลเซีย กลายเป็นฉากถ่ายทำรายการโชว์เน็ตฟลิกซ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฟอเรสต์ซิตี้ (Forest City) อภิมหาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของคันทรีการ์เดน (Country Garden) บริษัทพัฒนาอสังหาฯ สัญชาติจีน ในเมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย - ภาพ : เอพี
ดิ้นรนทุกหนทางเพื่อกอบกู้ฐานะการเงิน! ฟอเรสต์ซิตี้ (Forest City) อภิมหาโครงการเมืองที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร ในมาเลเซีย ซึ่งบริษัทจีนทุ่มลงทุน แต่ปรากฏว่า โครงการขายไม่ออก กลายเป็นเมืองร้าง

ต่อมาได้มีความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว แต่ก็ไร้ผล

ล่าสุด เมกะโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์แห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำรายการเรียลิตีโชว์ และภาพยนตร์สารคดีจำนวนหนึ่ง

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รายการเรียลิตีโชว์ เดอะ โมล (The Mole) ซีซันที่ 2 ซึ่งออกฉายครั้งแรกทางช่องเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีความยาว 10 ตอน ถ่ายทำในมาเลเซียทั้งหมด ฟอเรสต์ซิตี้ก็เป็นสถานที่ถ่ายทำแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากฉากในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเกาะติโอมัน การถ่ายทำเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม ปี 2566 นาน 6 สัปดาห์

เดอะ โมล เป็นรายการประลองโจทย์ความท้าทายต่างๆ และการลอบขัดขวางกันเองเพื่อให้ตนเองเป็นผู้ชนะในหมู่ผู้เข้าแข่งขัน 12 คนจากหลากหลายอาชีพ ซึ่งจะต้องออกเดินทางตามล่าหาสมบัติ ดำน้ำ และโรยตัวลงมาจากอาคาร 38 ชั้นในเมืองร้างแห่งนี้

ในตอนที่ 3 มีการแนะนำฟอเรสต์ซิตี้ว่าเป็น สถานที่สมบูรณ์แบบสำหรับบ้านพักตากอากาศสุดหรูสำหรับผู้มีกำลังทรัพย์จ่าย และบ้านเหล่านี้จะว่างเกือบตลอดทั้งปี

ป้ายต้อนรับตั้งอยู่วงเวียนหน้าแฟลตที่พักอาศัยในโครงการฟอเรสต์ซิตี้  - ภาพ: EPA-EFE
เมื่อเร็วๆ นี้ ฟอเรสต์ซิตี้ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำ แบตเทิลทริป (Battle Trip) รายการเรียลิตีตะลุยเที่ยว ฉายทางโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ รวมถึงภาพยนตร์สารคดีของเยอรมนี และออสเตรีย

ฟอเรสต์ซิตี้มีการประกาศเปิดตัวโครงการในปี 2549 ทำเลที่ตั้งอยู่ในเมืองยะโฮร์บาห์รู ใกล้กับพรมแดนสิงคโปร์ ประกอบไปด้วยแฟลต สวนน้ำ และโรงแรม ตั้งเป้าหมายรองรับผู้พักอาศัย 700,000 คน โดยคันทรีการ์เดน (Country Garden) บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการ ต้องใช้งบประมาณถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หลังจากเริ่มการก่อสร้างได้ 8 ปี มีผู้เข้าอาศัยไม่กี่พันคน ส่งผลให้กลายเป็นเมืองร้าง คันทรีการ์เดนต้องแบกภาระหนี้สินก้อนใหญ่ นอกเหนือจากปัญหาการเงินที่บริษัทกำลังเผชิญในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยโครงการอื่นๆ

ในปี 2566 โครงการฟอเรสต์ซิตี้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปแค่ราวร้อยละ 15 ของที่วางแผนเอาไว้ และแฟลตส่วนใหญ่ที่สร้างเสร็จแล้วดูเหมือนจะไม่มีใครอาศัยอยู่เลย

ที่มา : บิสซิเนสอินไซเดอร์/เซาท์ไชน่ามอร์นิง


กำลังโหลดความคิดเห็น