xs
xsm
sm
md
lg

สงครามเทคโนโลยี : ไบเดนเพิกถอนใบอนุญาตขายอุปกรณ์ให้หัวเว่ยรวดเดียว 8 ฉบับปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ : ซินหัว
นับตั้งแต่ต้นปี 2567 มา รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาต 8 ฉบับ ซึ่งเคยอนุญาตให้บริษัทอเมริกันบางแห่งขายอุปกรณ์ให้แก่ “หัวเว่ยเทคโนโลยีส์” ได้ ตามเอกสารที่รายงานครั้งแรกโดยรอยเตอร์

เอกสารนี้นับเป็นข้อมูลใหม่ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งดูแลนโยบายการส่งออกของสหรัฐฯ เคยระบุเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ได้เพิกถอนใบอนุญาต "บางส่วน" แต่มิได้ระบุชื่อหรือจำนวนซัปพลายเออร์ที่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัทควอลคอมม์ และบริษัทอินเทลอยู่ในกลุ่มที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามที่แถลงในครั้งนั้นด้วย ทางกระทรวงได้มีการจัดเตรียมเอกสารเพื่อตอบข้อซักถามของนายไมเคิล แม็กคอล ส.ส.พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 

ในเอกสารระบุว่า การอนุมัติใบอนุญาตขายสินค้าแก่หัวเว่ย รวมถึง “อุปกรณ์ออกกำลังกายและเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน ชิ้นส่วนประกอบเทคโนโลยีง่ายๆ สำหรับสินค้าผู้บริโภคในตลาดทั่วไป เช่น ทัชแพดและเซ็นเซอร์หน้าจอสัมผัสสำหรับแท็บเล็ต” ซึ่งมีจำหน่ายอย่างกว้างขวางในประเทศจีน


ประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐฯ - ภาพ : รอยเตอร์
ทั้งนี้ รายละเอียดในเอกสารได้เผยให้เห็นข้อมูลใหม่ๆ ที่แสดงถึงความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสกัดไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีนแห่งนี้กลับมาผงาดได้อีกครั้ง ท่ามกลางแรงกดดันจากสายเหยี่ยวในพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน หลังจากเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หัวเว่ยเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนด้วยชิปขั้นสูง ผลิตโดย SMIC บริษัทผู้ผลิตชิปของจีน สร้างความตกตะลึงไปทั้งวงการด้วยคาดไม่ถึงว่าจะทำได้ เพราะหัวเว่ย และ SMIC ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ คว่ำบาตรจำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีของอเมริกา

โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่นี้ช่วยให้ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยพุ่ง 64% ในช่วง 6 สัปดาห์แรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายงานของบริษัทวิจัย Counterpoint นอกจากนั้น ธุรกิจส่วนประกอบรถยนต์อัจฉริยะยังช่วยให้หัวเว่ยฟื้นตัว โดยบริษัทมีการเติบโตของรายได้เร็วที่สุดในรอบ 4 ปีในปี 2566

หัวเว่ยถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำจำกัดการขายสินค้าและเทคโนโลยีขั้นสูงให้ในปี 2562 เนื่องจากเกรงว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจเป็นเครื่องมือสอดแนมของรัฐบาลจีน โดยซัปพลายเออร์ของหัวเว่ยต้องขอใบอนุญาตในการส่งออก ซึ่งมีขั้นตอนที่ยากลำบากเป็นพิเศษ


อย่างไรก็ตาม การขยายใบอนุญาตในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ช่วยให้ซัปพลายเออร์มีช่องทางขายสินค้าและเทคโนโลยีให้หัวเว่ยได้ต่อไป เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวเพิกถอนใบอนุญาตเพิ่มเติมของรัฐบาลไบเดนดังกล่าว


ที่มา : รอยเตอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น