xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : สินค้าในจีน “โอเวอร์ซัปพลาย” ขนาดไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รถยนต์จีนรอส่งออกที่ท่าเรือเหยียนไถ มณฑลซานตง (แฟ้มภาพจากสำนักข่าวซินหัว)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

ช่วงนี้กลุ่มสื่อไทยลงข่าวประเด็นสินค้าจีนตีตลาดไทยบ่อยๆ จริงๆ แล้วก่อนหน้า 2-3 ปีสินค้าจีนเริ่มรุกหนักเข้ามาในไทย โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ที่ผู้ประกอบการจีนจำนวนมากเข้ามาขายเองโดยตรง ทำให้ตัดวงจรคนกลางออกไป ซึ่งมีข้อดีคือผู้บริโภคชาวไทยได้ซื้อสินค้าหลากหลายในราคาที่ถูกขึ้น

ในจีนสถานการณ์สินค้าผลิตในประเทศโอเวอร์ซัปพลาย หรืออุปทานส่วนเกิน หรือเข้าใจกันง่ายๆ คือ สินค้าที่ผลิตออกมามีปริมาณมากกว่าคนซื้อ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมด้วยกัน โดยสถานการณ์นี้เริ่มมาตั้งแต่หลายปีก่อนแล้ว

ในจีนมีคำเรียกเฉพาะปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่า “产能过剩” หมายถึง กำลังการผลิตส่วนเกิน โดยกำลังการผลิตของโรงงานแต่ละแห่งไม่ได้ถูกเอามาใช้อย่างเต็มที่ กำลังการผลิตไม่ได้ใช้เต็มที่ อัตราการว่างของเครื่องจักรมีอยู่มาก รัฐบาลจีนยังเคยออกมากล่าวถึงเรื่องโอเวอร์ซัปพลายในประเทศ โดยยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า "กำลังประสบปัญหาการผลิตล้นเกินในบางอุตสาหกรรม" 3 ปีหลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด เศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตามที่คาดการณ์ เพราะจากสาเหตุหลายประการ แต่ปรากฏการณ์โอเวอร์ซัปพลายเกิดจากความต้องการภายในประเทศที่ไม่เพียงพอเป็นเหตุผลหลัก ความต้องการในประเทศที่ถดถอยมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประชาชนลดการใช้จ่าย เป็นต้น

การสูญเสียคำสั่งซื้อจำนวนมากจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงการปิดประเทศของจีนส่งผลกระทบลากยาวมาจนถึงช่วงที่จีนประกาศยุติมาตรการควบคุมโรคระบาดโควิด และหลังจากที่ประเทศในยุโรปและอเมริกายกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจีน ปัญหากำลังการผลิตล้นตลาดของจีนเริ่มเด่นชัดมากขึ้น เมื่อสินค้าค้างสต๊อกขายไม่ได้เหมือนแต่ก่อนก็นำไปสู่การเลิกจ้างจำนวนมาก เป็นผลให้ผู้คนมากมายต้องตกงาน

ภาพข่าวสถานีโทรทัศน์กลางแห่งจีนขึ้นโปรยข่าวว่า “จีนตอบโต้สหรัฐฯ ในประเด็นรถยนต์อีวีโอเวอร์ซัปพลายว่า “ไม่เป็นความจริง”
การวิจัยชุดหนึ่งระบุว่า อุตสาหกรรมในจีนที่มีกำลังเผชิญกับภาวะการผลิตล้นเกินโดยรวมแล้วมีคุณลักษณะ 2 ประการได้แก่ หนึ่งกำลังการผลิตส่วนเกินที่มีลักษณะ "ส่วนเกินเชิงโครงสร้าง" ยกตัวอย่างเช่น มีกำลังการผลิตล้นอย่างรุนแรงในกลุ่มสินค้าตลาดระดับล่าง แต่กำลังการผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ หรือสินค้าตลาดระดับบนขาดแคลน เพราะอุปสงค์และอุปทานของสินค้าไฮเอนด์ไม่สมดุล ทำให้สินค้าไฮเอนด์ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

และนับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ เกิดขึ้น จีนประสบปัญหาขาดแคลนชิปเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เพราะชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก ในขณะที่วัสดุและชิ้นส่วนระดับล่างมีการผลิตล้นเกินและขายไม่ค่อยออก

ด้านอุตสาหกรรมไอทียังเผชิญกับแรงกดดันในปัจจุบัน จากจำนวนผู้ใช้และลูกค้าออนไลน์ที่อิ่มตัว การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น คนขายและโรงงานมีออเดอร์ปริมาณน้อยกว่าแต่ก่อน ส่งผลให้ผลกำไรลดลง

จากมุมมองของการพัฒนาอุตสาหกรรม กำลังการผลิตล้นเกินเกิดขึ้นบ่อยที่สุดใน “อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินทุนสูง” เช่น ถ่านหิน ซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก กระจก โลหะอื่นๆ ที่ไม่ใช่เหล็ก อุปกรณ์พลังงานลมและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ผ่านมา นโยบายพิเศษของรัฐบาลจีนมีแนวโน้มมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินทุนสูง เพราะเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นแล้ว อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินทุนสูงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วที่สุด

และต่อมาเนื่องจากการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทำได้ง่าย ทำให้มีการลงทุนที่มากเกินไปและขยายกิจการอย่างไร้เหตุผล เช่น มักมีการลงทุนสร้างทำโรงงานตามกระแส เช่น โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยช่วงโควิดระบาด แห่กันลงทุนสุดท้ายก็แห่กันปิดตัวระนาว ซึ่งนำไปสู่กำลังการผลิตส่วนเกินที่รุนแรง ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากำลังการผลิตส่วนเกินเชิงโครงสร้างของจีนในภาคอุตสาหกรรมยังมีปัญหา สาเหตุมาจากความสามารถด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ

อุตสาหกรรมของจีนที่กำลังประสบปัญหาโอเวอร์ซัปพลายอย่างรุนแรงในขณะนี้ มีดังต่อไปนี้

- อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตล้นมากที่สุด จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน การผลิตเหล็กดิบในประเทศของจีนอยู่ที่ 1.01 พันล้านตันในปี 2022 คิดเป็น 53% ของการผลิตเหล็กดิบทั่วโลก และเนื่องจากความต้องการที่มีไม่มาก ทำให้ราคาเหล็กจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรของบริษัทเหล็กหดตัวลงอย่างมาก

- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ข้อมูลจากสมาคมปูนซีเมนต์จีน ระบุว่า ผลผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศของจีนจะอยู่ที่ 2.51 พันล้านตันในปี 2022 ซึ่งสูงกว่าอุปสงค์ในประเทศมาก บริษัทปูนซีเมนต์ทั้งหลายกำลังประสบกับการขาดทุนอย่างร้ายแรง เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากความซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนด้วย

- อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมอิเล็กโตรไลต์ ตามข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็กของจีน การผลิตอะลูมิเนียมอิเล็กโตรไลต์ของจีนจะอยู่ที่ 40.14 ล้านตันในปี 2022 ในขณะที่ความต้องการภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านตันเท่านั้น

ในภาพเขียนว่า “มีการถามถึงอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลในจีนที่โอเวอร์ซัปพลาย ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ตอบ” (ภาพจากสื่อจีน เฟิ่งหวง)
- อุตสาหกรรมการต่อเรือ ตามข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีน ปริมาณการต่อเรือในปี 2022 ผลิตเรือที่มีปริมาณเรือที่รองรับน้ำหนักได้ทั้งหมด 48.54 ล้านตันตัน ซึ่งสูงกว่าความต้องการทั่วโลกมาก ทำให้ราคาลดลงจนผู้ผลิตขาดทุนไปตามๆ กัน

- อุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหากำลังการผลิตล้นเกินเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น ตามข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของจีน ผลผลิตโมดูลไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในจีนจะอยู่ที่ประมาณ 359GW ในปี 2022 ในขณะที่ความต้องการภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 120GW เท่านั้น ดังนั้น แผงโซลาร์เซลล์ของจีนจำนวนมากถูกส่งออกไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมไทย และถูกส่งออกต่อไปยังประเทศสหรัฐฯและยุโรป

- อุตสาหกรรมยานยนต์จีน ยังเผชิญกับความเสี่ยงจากกำลังการผลิตล้นเกิน ตามข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน การผลิตรถยนต์ในประเทศมีอยู่ที่ 27.02 ล้านคันในปี 2022 ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะอยู่ที่เพียง 26.86 ล้านคันเท่านั้น และรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้การแข่งขันด้านราคายิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก ดูได้จากประเทศไทยมีการนำเข้ารถไฟฟ้ามากมายจากจีน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรถยนต์ในจีนอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัปพลายนั่นเอง (ถึงแม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญจีนบางคนอละสื่อของรัฐจีนออกมาปฏิเสธว่ารถยนต์ไฟฟ้ายังไม่อยู่ในภาวะโอเวอร์ซัปพลายก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่ารถยนต์ไฟฟ้าจีนกำลังล้นทะลัก ส่งออกไปทั่วโลก)

เพราะปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนต้องอัดฉีดการควบคุมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตล้นเกินและจำกัดกำลังการผลิตใหม่ พร้อมกับกำจัดกำลังการผลิตที่ล้าหลังออกไปด้วย ขั้นตอนต่อมาคือรัฐบาลจีนพยายามขยายความต้องการผลิตภัณฑ์ โดยผ่านการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและส่งออกขยายตลาดในต่างประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาโอเวอร์ซักพลายอย่างหนักทำการควบรวมและการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้เหมาะสม

ดังนั้น การแก้ปัญหาโอเวอร์ซัปพลายถือเป็นงานระยะยาวและค่อนข้างยากลำบาก โดยต้องใช้ความพยายามร่วมกันของรัฐบาล วิสาหกิจ ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

สิ่งที่เราเห็นในวันนี้สินค้าจีนเข้ามาขายในไทยทางตรงในราคาที่ถูกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์ หรือผู้ประกอบการนำเข้ามาขายเอง ไม่ต้องแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินของจีนในหลากหลายอุตสาหกรรมนั่นเอง สิ่งที่สำคัญคือเราจะรับมือกับ “คลื่นสึนามิสินค้าจีน-ทุนจีน” นี้ยังไงมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น