xs
xsm
sm
md
lg

จีนไม่เอาไว้! เครื่องตรวจจับเรือดำน้ำเครื่องบินมะกันปล่อยลงทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพวิดีโอในเว่ยปั๋วจากบัญชีอี้ว์ยวนถันเทียน” (Yuyuantantian)
จีนเดินหน้าค้นหาเก็บกู้เครื่องตรวจจับเรือดำน้ำ ซึ่งเครื่องบินทหารสหรัฐอเมริกาปล่อยลงในทะเลจีนใต้ ชี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงและฝูงโลมา
 
“อี้ว์ยวนถันเทียน” (Yuyuantantian) บัญชีโซเชียลมีเดียของไชน่ามีเดียกรุ๊ป สื่อทางการจีน แชร์วิดีโอเมื่อวันพุธ (26 มิ.ย.) หน่วยยามชายฝั่งของจีน (CCG) ขณะลาดตระเวนเมื่อเร็วๆ นี้ พบเครื่องบินกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งดูเหมือนเป็นพี-8 โพไซดอน บินวนเหนือทะเลจีนใต้ และทิ้งวัตถุลักษณะคล้ายทุ่นโซโนบุย ซึ่งเป็นทุ่นโซนาร์ลงทะเล ใกล้กับ แนวปะการังเหรินอ้าย CCG จึงเข้าเก็บกู้และตรวจสอบ

ตามรายงานของ “อี้ว์ยวนถันเทียน” วัตถุดังกล่าวเป็นเครื่องตรวจจับเรือดำน้ำ มีเครื่องหมายของอัลตร้า อิเล็กทรอนิกส์ อันเดอร์ซี เซ็นเซอร์ ซิสเตมส์ (Ultra Electronics Undersea Sensor Systems, Inc.) บริษัทสัญชาติอังกฤษ ซึ่งผลิตทุ่นโซโนบุยและเซ็นเซอร์ใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือผู้หนึ่งระบุว่า บริษัทเชี่ยวชาญด้านบริการตรวจจับเรือดำน้ำ โดยให้บริการอย่างครอบคลุมแก่กองทัพเรือสหรัฐฯ เครื่องมือที่กู้ขึ้นมานี้สามารถตรวจจับสัญญาณจากเรือดำน้ำของจีนและส่งสัญญาณตอบโต้ใต้น้ำได้ด้วย
 

ภาพวิดีโอในเว่ยปั๋วจากบัญชีอี้ว์ยวนถันเทียน” (Yuyuantantian)
บริเวณ แนวปะการังเหรินอ้าย หรือ เหรินอ้ายเจียว มีชื่อเสียงด้านทัศนียภาพอันสวยงามและมีฝูงปลาโลมาอาศัยอยู่ โซนาร์ที่ปล่อยจากอุปกรณ์อาจทำให้โลมางุนงงสับสน หรือเกยตื้นได้ เนื่องจากไปรบกวนระบบ Echolocation ของปลาโลมา และสัตว์ทะเลอื่นๆ ซึ่งรับรู้สภาพแวดล้อมและทราบตำแหน่งที่มันอยู่ได้ โดยอาศัยวิธีการปล่อยเสียง และรับฟังคลื่นสะท้อนของเสียงกลับมา

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีนผู้หนึ่งระบุว่า สหรัฐฯ มุ่งมั่นรวบรวมข้อมูลอุทกวิทยา เพื่อพัฒนาแผนที่มหาสมุทรดิจิทัลสำหรับวัตถุประสงค์ทางการทหาร และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำของจีน


“เครื่องตรวจจับใต้น้ำเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง ไม่ว่าจะถูกส่งมาจำนวนมากเท่าใด เราจะค้นหาและยึดไว้ทั้งหมด และดำเนินมาตรการตอบโต้ที่จำเป็น” เขากล่าว


เหตุการณ์ครั้งนี้โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนแถลงคัดค้านหนักแน่นต่อการเข้ามาก่อความวุ่นวายในทะเลจีนใต้ของเรือรบและเครื่องบินสหรัฐฯ

ทั้งนี้ บริเวณที่สหรัฐฯ ปล่อยเครื่องตรวจจับเรือดำน้ำเป็นพื้นที่พิพาทอ้างกรรมสิทธิ์ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ซึ่งเรียกแนวปะการังเหรินอ้ายว่า แนวสันดอนโทมัสที่ 2 ขณะที่สหรัฐฯ ใช้ข้ออ้างว่า เพื่อสนับสนุน "อินโดแปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง" จึงส่งเครื่องบินและเรือรบปฏิบัติการในเขตน่านน้ำสากลของทะเลจีนใต้อยู่เป็นประจำร่วมกับชาติพันธมิตร


ที่มา : โกลบอลไทมส์/บิสซิเนสอินไซเดอร์



กำลังโหลดความคิดเห็น