xs
xsm
sm
md
lg

ลิเบียยังวุ่นวายไร้เสถียรภาพ แต่พญามังกรพร้อมหวนคืนการค้าลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ลิเบียชาติในแอฟริกาเหนือต้องดิ้นรนฝ่าฟันความรุนแรงภายในและความไม่มั่นคงทางการเมืองมานานหลายปีนับตั้งแต่การปฏิวัติปี 2554 แต่ตอนนี้กำลังดำเนินการขั้นแรกเพื่อเปิดประเทศให้กับนักลงทุนชาวจีนอีกครั้ง  - ภาพ: เอพี
การปฏิวัติโค่นล้มอำนาจมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองนองเลือดในลิเบียเมื่อ 13 ปีก่อน ทำให้จีนต้องอพยพพลเมืองหนีตาย 35,860 คน ถือเป็นการอพยพพลเมืองในต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ขณะนั้นบริษัทจีน 75 แห่งควบคุมโครงการขนาดใหญ่ 50 โครงการในลิเบีย ครอบคลุมด้านน้ำมัน การก่อสร้าง การรถไฟ และโทรคมนาคม มีมูลค่าสัญญามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีน แต่การลงทุนที่นั่นถูกระงับทั้งหมดนับตั้งแต่นั้นมา


จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่า การค้าการลงทุนจากแดนมังกรพร้อมจะกลับไปยังชาติแหล่งน้ำมันดิบในแอฟริกาเหนือแห่งนี้ รวมถึงการเปิดสถานทูตจีนในกรุงตริโปลีอีกครั้ง หลังจากมีการหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรี อับดุล ฮามิด ดีเบบาห์ (Abdul Hamid Dbeibah) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติลิเบีย กับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง และนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน นอกรอบการประชุมฟอรั่มความร่วมมือจีน-ชาติอาหรับระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 10 ที่กรุงปักกิ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
 
ปัจจุบัน ประเทศลิเบียแบ่งเป็น 2 ฝ่ายระหว่างฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (GNU) ในกรุงตริโปลี ซึ่งนานาชาติให้การยอมรับกับฝ่ายรัฐบาลรักษาเสถียรภาพแห่งชาติ (GNS) ในเมืองเบงกาซีทางภาคตะวันออก

 
นายเดวิด ชินน์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับทวีปแอฟริกาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ระบุว่า ลิเบียส่งออกน้ำมันไปจีน 2 พัน 2 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกน้ำมันทั้งหมด 3 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 จีนต้องการทำสัญญาด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกครั้ง ส่วน GNU ก็อยากเห็นการกลับมาของบริษัทจีน แต่การไร้เสถียรภาพทางการเมืองในลิเบียอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ยังเป็นข้อกังวล และยังไม่ชัดเจนว่าจีนจะมีปฏิสัมพันธ์กับระบอบการปกครองของ พล.อ.คอลิฟา ฮาฟตาร์ ในลิเบียตะวันออกอย่างไร


นายกรัฐมนตรี อับดุล ฮามิด ดีเบบาห์ ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติลิเบีย หารือกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีนในกรุงปักกิ่ง ถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการกลับมาร่วมมือกันอีกครั้งด้านการค้าและโครงสร้างพื้นฐาน – ภาพ : ซินหัว
นายจอห์น คาลาเบรส แห่งสถาบันตะวันออกกลางในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองโค่นอำนาจกัดดาฟี รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีนทั้ง 3 แห่ง คือ CNPC CNOOC และ SINOPEC ล้วนมีโครงการอยู่ในลิเบีย เขายังตั้งข้อสังเกตว่าจีนมีการติดต่อกับรัฐบาลทั้งสองฝ่ายในช่วงสงครามกลางเมืองครั้งที่สอง (ตั้งแต่ปี 2557-2563) อย่างที่จีนทำกับที่อื่นๆ เช่น อัฟกานิสถาน และความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ การเข้าไปมีบทบาทฟื้นฟูลิเบีย งานนี้จีนมีแต่ได้กับได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทของจีนเอง ซึ่งก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าดำเนินโครงการขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฟื้นฟูลิเบีย


การได้ความมั่นคงด้านพลังงานและเพิ่มอิทธิพลของจีนในแอฟริกา


การได้ขยายแหล่งลงทุนมากขึ้น กล่าวคือหลังจากอิตาลีถอนตัวจากโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ที่ตั้งของลิเบียซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างแอฟริกา ยุโรป และตะวันออกกลางอาจทำให้ตริโปลีเป็นประตูสำหรับการลงทุนของจีนไปสู่ภูมิภาคที่กว้างขวางขึ้น


นอกจากนั้น การมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูลิเบียยังทำให้การวางตัวของจีนในฐานะชาติผู้มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาและสร้างเสถียรภาพในโลกโดดเด่นขึ้นอีกด้วย


จาก “China makes moves to reopen economic ties with Libya, 13 years after suspending trade” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น