พิพิธภัณฑ์หูหนันในนครฉางซา จัดนิทรรศการฉลองครบรอบ 50 ปี ของการขุดค้นพบสุสานหม่าหวังตุยแห่งราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของโลกแห่งศตวรรษที่ 20
ไฮไลต์ของนิทรรศการนี้คือ การนำ “เสื้อคลุมยาวผ้าโปร่งไม่มีซับในสีธรรมชาติ ที่จีนเรียกว่า ‘ซู่ซาตันอี’ (素纱单衣) แบบสาบแหลม” ออกมาแสดงให้ประชาชนได้ชมกันเป็นครั้งแรก
สุสานหม่าหวังตุยแห่งนี้เป็นขุมทรัพย์มรดกทางวัฒนธรรมจากยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสตศักราช-ปี 25) หรือกว่า 2,200 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีจีนขุดพบสุสานหม่าหวังตุยระหว่างปี 1972-1974 ที่นครฉังซา มณฑลหูหนัน ในกรุโบราณวัตถุกว่าสามพันชิ้นที่ขุดพบในสุสานหม่าหวังตุย มีสมบัติวัฒนธรรมล้ำค่ามากประเภท หนึ่งคือเครื่องแพรไหมโดยเฉพาะ ‘ซู่ซาตันอี’ สองชุดที่พบในหลุมฝังศพหมายเลขหนึ่งซึ่งเป็นหลุมศพของท่านผู้หญิงซินจุย ภรรยาของหลี่ชาง อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซาในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
‘ซู่ซาตันอี’ สองชุดนี้ถูกถักทอขึ้นจากเส้นไหมที่ไม่ได้ย้อมสีอย่างประณีต “บางราวปีกจักจั่น เบาดั่งควัน” เป็นหลักฐานสะท้อนถึงยุคทองของเทคนิคการรังสรรค์สิ่งทอในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
อี๋ว์ เยี่ยนเจียว ผู้อำนวยการการวิจัยของสุสานหม่าหวังตุย และศูนย์นิทรรศการและการวิจัยคอลเลกชัน แจงว่า ‘ซู่ซาตันอี’ ที่พบในสุสานหม่าหวังตุย ชุดหนึ่งเป็น ‘ซู่ซาตันอีแบบสาบตรง’ ความยาวทั้งสิ้น 128 เซนติเมตร น้ำหนัก 49 กรัม
ส่วนอีกชุดเป็น ‘ซู่ซาตันอีแบบสาบแหลม’ ความยาวทั้งสิ้น 160 เซนติเมตร น้ำหนัก 48 กรัม ซึ่งยังไม่เคยนำออกมาโชว์ให้สาธารณชนได้ชมนับจากขุดค้นพบกรุสมบัติวัฒนธรรมโบราณในสุสานหม่าหวังตุย
อนึ่ง เสื้อคลุมยาวแบบโบราณ ‘ซู่ซาตันอี’ มีสองแบบ คือ แบบชีว์จีว์ (曲裾) ซึ่งสาบเสื้อแหลมยาวพันไปด้านหลังหรือพันวนกลับมาด้านหน้า และแบบจื๋จีว์ (直裾) ซึ่งสาบเสื้อตรงลงมาด้านหน้า
สำหรับนิทรรศการฉลองครบรอบ 50 ปี ของการขุดค้นพบสุสานหม่าหวังตุยแห่งราชวงศ์ฮั่น มีชื่อธีมว่า “เธอย่างเยื้องในความงดงาม: สตรีแห่งราชวงศ์ฮั่นและจักรวรรดิโรมัน” (She Walks in Beauty: Women of the Han Dynasty and the Roman Empire) จุดประสงค์การจัดนิทรรศการซึ่งเปิดม่านเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไปถึง 7 ต.ค.2024 มุ่งเน้นแสดงชีวิตครอบครัว สังคม และอารมณ์ของผู้หญิงทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตกเมื่อ 2,000 ปีก่อน
ภายในนิทรรศการดังกล่าวจัดแสดงสิ่งของมากกว่า 200 ชิ้น/ชุด จากพิพิธภัณฑ์ 19 แห่งทั่วอิตาลีและจีน ซึ่งนอกจาก ซู่ซาตันอี ยังมีภาพวาดบนผ้าไหมรูปทรงตัวที (T) จากหลุมศพของท่านผู้หญิงซินจุย
สำหรับกลุ่มศิลปวัตถุของอิตาลีที่นำมาร่วมจัดแสดง หนึ่งในนั้นมีจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก (Fresco) คือภาพเพอร์ซีอุส และแอนโดรเมดา ซึ่งถูกนำมาแสดงนอกพิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเนของอิตาลีเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ถูกนำมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์
ที่มา สำนักข่าวซินหัว/กลุ่มสื่อจีน : 首次展出!国宝级文物曲裾素纱单衣真品亮相新展