xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights&:คนจีนยุคใหม่ กับเทรนด์ “แข่งกันประหยัด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บนโซเชียลมีการแชร์การนำถุงใส่ชานมมาประยุกต์เป็นของใช้ประเภทต่างๆ ทั้ง “บ้านแมว” กล่องใส่เอกสาร ที่ใส่การ์ดต่างๆ (ภาพจากแพลตฟอร์ม เสี่ยวหงซู)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

ในบทความนี้ผู้เขียนขอเล่ากระแสหนึ่ง กลุ่มคนรุ่นใหม่ใหม่ในจีนจำนวนหนึ่งหันมาใช้จ่ายกันอย่างประหยัด และแชร์ข้อมูลเทคนิคการประหยัดของตัวเองลงโซเชียล จนมีคำเรียกเฉพาะว่า “炫省一族” หมายถึง กลุ่มคนที่อวดความประหยัดของตัวเอง

จากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ยังไม่เฟื่องฟูเหมือนช่วงก่อนโรคโควิดระบาด ภาคอสังหาริมทรัพย์ถึงแม้มีประกาศนโยบายช่วยฟื้นฟู เช่น ในบางเมืองเดินหน้ากระตุ้นให้ประชาชนซื้อบ้านได้หลายหลัง กลุ่มธนาคารออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหลังจากที่รัฐบาลกลางอนุมัติเงินมหาศาลเข้ามาพยุง แต่สถานการณ์อสังหาฯ ในจีนยังคงไม่กระเตื้องเท่าใดนัก อัตราว่างงานในจีนยังอยู่ในระดับสูงถึงแม้ว่าจะไม่ประกาศตัวเลขแล้ว แต่ประชาชนก็พอรับรู้กันได้ เพราะปัญหาสังคมต่างๆ ที่ประดังเข้ามาทำให้คนรุ่นใหม่จีนหลายคนปรับเปลี่ยนทัศนคติในการใช้ชีวิต

“แนวทางการใช้ชีวิตแบบประหยัด” ตามแบบฉบับของชาวจีนยุคใหม่มีมากมาย ถึงขนาดมีพาดหัวข่าวว่า “สงครามแข่งกันประหยัด ใช้ถุงใส่ชานมแทนกระเป๋าไม่รู้สึกน่าอาย ใช้เป็นกระเป๋าใส่ของออกไปทำงานทุกวันได้” เพราะถุงใส่ชานมหลายแบรนด์ในจีนที่ใช้ส่งให้ลูกค้าที่ออเดอร์ออนไลน์เป็นถุงเก็บความร้อนแบบหนา มีความเหนียวและคงทน

เสี่ยวหวาง สาวชาวจีนอายุ 25 ปี ผู้ชื่นชอบใช้ถุงชานมใส่ข้าวของใช้ประจำวันไปทำงาน บอกว่าเห็นถุงคุณภาพดีแบบนี้ทิ้งไม่ลง เอามาใส่ของใช้ประจำวันไปทำงาน ใบหนึ่งใช้ได้อาทิตย์กว่า ก็ไม่ต้องใช้กระเป๋าแล้ว ยังประหยัดเงินได้อีก เพราะตัวเองเพิ่งเรียนจบและเริ่มทำงานได้ไม่นาน หลังจากทำงานพบว่าเงินหาไม่ง่ายเลยต้องประหยัดใช้ ในกลุ่มเพื่อนของเธอยังแชร์การใช้เงินอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุดกันบ่อยๆ เสี่ยวหวางยังบอกเพิ่มเติมว่าในยุคนี้คนรุ่นใหม่ใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาดมากขึ้น หลายคนไม่ตกเป็นทาสการตลาดง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว”

ชาวเน็ตจำนวนมากยังได้นำถุงชานมมาประดิษฐ์เป็นของใช้ในบ้านอื่นๆ เช่น ที่คั่นหนังสือ ที่ใส่การ์ด ที่ใส่ปากกา ไปจนถึงบ้านแมวและกล่องใส่เอกสาร เป็นต้น ซึ่งของแต่ละชิ้นทำออกมาได้ดี ใช้งานได้จริง คนจีนยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะใช้เงินไตร่ตรองมากขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “该省省该花花” อ่านว่า “ไกเฉิงเฉิง ไกฮวาฮวา” แปลว่า ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัดและจ่ายในสิ่งที่ควรจ่าย ในยุคที่ราคาสินค้าสูงขึ้นแบบนี้ คนจีนรุ่นใหม่บางคนมองว่าเราพบกับความสุขของตัวเองได้จากการประหยัดเงิน ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถมีชีวิตหรูหราได้ แต่เราสามารถทำให้ชีวิตของเราน่าสนใจยิ่งขึ้นได้ด้วยการประหยัดเงิน

"กลยุทธ์ของคนจน" ของนายหลี่เฟยเฟย อินฟลูเอ็นเซอร์ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมากหันมาประหยัดเงิน นายหลี่อันตง นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เป็นแฟนคลับนายหลี่เฟยเฟย บอกว่าเขาได้เรียนรู้เคล็ดลับมากมายในการประหยัดเงิน ตัวเขาเองเริ่มมีความรอบคอบในชีวิตและพัฒนาแผนการเก็บเงินของตัวเองอย่างละเอียด

อินฟลูเอ็นเซอร์ชาวจีนเกาะเทรนด์ “อวดความประหยัด” แนะนำการชอปสินค้าออนไลน์ ว่า “เพียงเปลี่ยนคำค้น ก็ประหยัดเงินได้” (ภาพจากโซเชียลมีเดียจีน เวยปั๋ว)
ในช่วงชอปแหลกวันโสดของจีนทุกวันที่ 11 พ.ย.ของทุกปี แพลตฟอร์มชอปปิ้งต่างๆ จะโปรโมตสินค้าบนแพลตฟอร์มของตัวเองอย่างอึกทึกครึกโครม แต่ยอดขายโดยรวมไม่ได้ดีเหมือนยุคเริ่มแรก เพราะผู้คนเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายมากที่สุดและประหยัดกันมากขึ้น คนจีนรุ่นใหม่เริ่มที่จะ “อวดความประหยัดมากกว่าอวดความรวย” มีการจัดตั้งกลุ่มบนโซเขียลมากมายที่เป็นกลุ่มแชร์ประสบการณ์การประหยัด หรือการแชร์ข้อมูลกลยุทธ์การซื้อสินค้าลดราคา ว่าจะซื้อแบบใดให้ได้ส่วนลดมากที่สุด บางคนบอกว่าความประหยัดคือเรื่อง “อินเทรนด์” สมควรได้รับความสนใจมากกว่าการแข่งกันอวดความรวย

บนแพลตฟอร์มไคว่โฉ่วเอง มีผู้สนใจเรื่องการประหยัดจำนวนมากได้เข้าร่วม “โครงการแนะแนวการประหยัด” (Saving Guide) ของทางแพลตฟอร์ม โดยมีการแบ่งปันกลยุทธ์การประหยัดเงินต่างๆ และมีเกมสนุกๆ แชร์การประหยัดเงินผ่านการอัดคลิปวิดีโอสั้นๆ โครงการฯนี้ดึงดูดแฟนๆ จำนวนมากอย่างรวดเร็ว และผู้คนได้เรียนรู้เคล็ดลับการประหยัดเงินที่นำไปใช้ได้จริงผ่านแพลตฟอร์มนี้

ในเทรนด์ "อวดความประหยัด" นี้ ยังมี นางติงเจิ้ง กลายเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ถูกพูดถึงกันมากในโซเชียลจากการแสดงตลกขบขันและเหน็บแนมพฤติกรรมอวดรวย เธอได้บอกกับชาวเน็ตว่า "การออมเงินไม่ได้หมายถึงการใช้ชีวิตที่น่าสงสาร ในทางกลับกัน มันเป็นภูมิปัญญาในการใช้ชีวิต คุณไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อสิ่งของ ตราบใดที่คุณฉลาดพอ คุณก็สามารถซื้อของดีในราคาถูกได้"

ตลาดบริการแพลตฟอร์มการซื้อสินค้าและบริการแบบรวมกลุ่มกันซื้อสินค้าที่ชาวจีนเรียกกันว่า “ถวนโก้ว” (团购)ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน เช่น แพลตฟอร์มเหมยถวน (Meituan) จัดหาสินค้าและบริการจากร้านค้ามากมายให้เลือก ผู้บริโภคเพียงแค่เปิดแอปและค้นหาร้านค้าที่ตัวเองต้องการไปใช้บริการ ร้านรวงส่วนใหญ่ก็ทำการโปรโมตบนแพลตฟอร์มเหมยถวนนี้ เช่น ลงออเดอร์ซื้อผักผลไม้ราคาถูกของมาส่งถึงบ้าน หรือไม่ก็ร้านอาหารที่มีชุดอาหารราคาพิเศษบนเหมยถวน ลูกค้าจ่ายเงินบนแพลตฟอร์มเสร็จก็นำคิวอาร์โค้ดไปโชว์ให้ร้านค้าสแกนเพื่อที่จะได้รับชุดอาหารที่ซื้อบนแพลตฟอร์ม กระทั่งการทำฟันหรือตัดผม ร้านค้าบริการหลายร้านมีโปรโมตราคาพิเศษบนแพลตฟอร์ม ดังนั้นลูกค้าก่อนจะไปทำฟันหรือตัดผมก็ซื้อบริการราคาพิเศษบนแพลตฟอร์มก่อนแล้วนำไปใช้ที่ร้านค้าที่ให้บริการ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของแพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อแบบกลุ่มนี้ สะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคจีนที่ต้องการบริโภคสินค้าราคาถูกและเฟ้นหาสินค้าบริการที่คุ้มค่ามากขึ้น กลุ่มผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวต่อราคามากขึ้นนั่นเอง

ภาคธุรกิจจีนเสนอบริการช่วยประหยัด แพลตฟอร์มเหมยถวน “ซื้อแบบกลุ่ม” ราคา 29.9 หยวน มูลค่า 50 หยวน (ภาพจาก โต่วอิน)
ผู้เขียนเพิ่งได้คุยสัพเพเหระกับเพื่อนคนจีนที่ทำงานในไทย เธอบอกว่าตอนนี้แม้จะฟรีวีซ่าแต่คนจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทยก็ยังไม่เยอะเหมือนกับช่วงปี 2018-2019 ตัวเธอได้ไปเดินเล่นที่ศูนย์การค้าปลอดภาษีดังแห่งหนึ่ง และพบว่าบรรยากาศเงียบมาก ลูกค้าคนจีนและทัวร์จีนที่มาลงซื้อของน้อยกว่าแต่ก่อนเยอะอย่างชัดเจนเลย ผู้เขียนเลยถามเพิ่มเติมถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร เธอตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี คนที่มาเที่ยวไทยเที่ยวกันแบบประหยัดมากกว่าแต่ก่อน ตัวเธอเองก็รู้สึกว่าราคาสินค้าบริการที่กรุงเทพฯ แพงขึ้นมาก

กลับมาที่การซื้อแบบกลุ่มเป็นวิธีการชอปปิ้งทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การซื้อแบบกลุ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากลในชื่อ B2T (Business To Team) ด้วยการพัฒนาไปไกลของอีคอมเมิร์ซของจีน การซื้อแบบกลุ่มทางออนไลน์จึงกลายเป็นที่นิยมในหมู่ชาวเน็ตจีนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี การซื้อแบบกลุ่มยิ่งเติบโต) การซื้อสินค้าแบบกลุ่มค่อยๆ เปลี่ยนจากสินค้าชิ้นเล็กไปสู่สินค้าชิ้นใหญ่และการซื้อบริการต่างๆ ตั้งแต่ตัดผม ทำฟัน ทำหน้า ไปจนถึงอาบน้ำหมาแมว

การซื้อแบบกลุ่มทางออนไลน์เป็นที่นิยมในกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุ 25 ถึง 35 ปีมากที่สุด ซึ่งการซื้อแบบกลุ่มในเมืองใหญ่เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กว่างโจว และเซียะเหมิน มีการพัฒนาไปมาก ครอบคลุมบริการหลากหลาย ส่วนใหญ่ราคาย่อมเยากว่าการจ่ายเงินที่หน้าร้าน

เทรนด์การประหยัดของคนจีนยุคใหม่สะท้อนออกมาให้เห็นในหลายด้าน ทั้งกระแส “ตัด ละทิ้ง ตีจาก” ที่จีนได้กำหนดเป็นสโลแกนว่า “断-舍-离” (อ่านว่า ต้วนเฉ่อหลี) คือการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิต ทั้งข้าวของเครื่องใช้ ไม่สะสม ไม่เสาะหาสิ่งที่ไม่จำเป็น หลายคนมีความภาคภูมิใจกับชีวิตแบบประหยัดและไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องน่าอาย และมองว่ายิ่งประหยัดได้มากเท่าไหร่ยิ่งท้าทายมากเท่านั้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น