ความข้ดแย้งระหว่างไนเจอร์-เบนินสองชาติเพื่อนบ้านในทวีปแอฟริกา ทำให้เบนินประกาศปิดกั้นการส่งออกน้ำมันดิบของไนเจอร์ น้ำมันที่จะส่งไปจีนเกิดความล่าช้า แต่เมื่อจีนเล่นบทคนกลางไกล่เกลี่ย ปัญหาก็จบอย่างรวดเร็ว
เรือบรรทุกน้ำมันดิบหนึ่งล้านบาร์เรลของไนเจอร์ออกเดินทางจากท่าเรือเซเมในเบนินได้สำเร็จเมื่อวันอาทิตย์ (19 พ.ค.) เพื่อขนน้ำมันไปส่งแดนมังกร
บริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (CNPC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของไนเจอร์จำนวน 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบริษัทในเครือคือ ปิโตรไชน่า เป็นเจ้าของ 2 ใน 3 ของบ่อน้ำมันอากาเดม นอกจากนี้ CNPC ยังสนับสนุนเงินทุนและสร้างท่อส่งน้ำมันความยาว 2,000 กิโลเมตร เพื่อลำเลียงน้ำมัน โดยรัฐบาลทหารไนเจอร์ได้ลงนามขอเงินกู้จำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก CNPC และกำหนดชำระคืนในรูปของการขนส่งน้ำมันดิบให้จีน
ไนเจอร์ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล เริ่มลำเลียงน้ำมันดิบผ่านท่อไปยังท่าเรือเซเมในมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดปัญหาขัดแย้งดังกล่าว
เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะผู้แทนของจีนซึ่งรวมถึง CNPC จึงรุดจับเข่าคุยกับประธานาธิบดี ปาทริส ตาลง ของเบนินในทันที
จุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างชาติทั้งสองเกิดขึ้น เมื่อประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (Ecowas) ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทหารของไนเจอร์ เป็นการลงโทษที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เบนินในฐานะชาติสมาชิกต้องปิดพรมแดน กระทั่งในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อีโควอสยกเลิกการคว่ำบาตร เพราะไนเจอร์ขู่ถอนตัว เบนินจึงเปิดพรมแดน แต่ไนเจอร์กลับไม่ยอมเปิดพรมแดนของตนด้วยข้ออ้างว่า เบนินเป็นฐานฝึกของกลุ่มก่อการร้าย เบนินจึงประกาศปิดกั้นการส่งออกน้ำมันของไนเจอร์ตอบโต้
นายพอล นันทุลยา ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนประจำศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์แอฟริกาของมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศในกรุงวอชิงตันมองว่า การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วนี้ บ่งบอกถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทูตของจีนในทั้งสองประเทศ และปักกิ่งทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยเก่งขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถปกป้องการลงทุนของจีนในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ผันผวนได้
นอกจากนั้น กลยุทธ์ในฐานะคนกลางที่จีนเชี่ยวชาญยังนำมาใช้ได้กับรัฐบาลเผด็จการทหารในบูร์กินาฟาโซ มาลี ไนเจอร์ และที่อื่นๆ อีกด้วย เพราะจีนมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับทั้งรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจและรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร
มาร์ก โบห์ลันด์ นักวิเคราะห์การวิจัยสินเชื่อของ REDD Intelligence ระบุว่าท่อส่งน้ำมันทำให้จีนมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลไนเจอร์และเบนิน การแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วสะท้อนให้เห็นว่า ชาติทั้งสองต้องพึ่งพาท่อส่งน้ำมันสร้างรายได้ให้รัฐบาลและรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แต่นายเดวิด ชินน์ ผู้เชี่ยวชาญจีน-แอฟริกา และอาจารย์ประจำโรงเรียนวิเทศสัมพันธ์เอลเลียต แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันมองว่า จีนใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมากกับชาติทั้งสองและอาจมีสารให้ความหวานทางการเงินอยู่บ้าง ไม่ใช่เรื่องเจรจาไกล่เกลี่ยเก่งขึ้น
นายชินน์ ระบุว่า การที่จีนและ CNPC ติดอยู่ในท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างชาติในแอฟริกา เป็นสิ่งตอกย้ำว่า การทำธุรกิจในภูมิภาคซาเฮลขณะนี้มีความเสี่ยงเพียงใด และการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในอนาคตไม่น่าจะมีใครอยากมา
นันทุลยา กล่าวว่า ความขัดแย้งไนเจอร์-เบนินเป็นปัญหาด้านความมั่นคงซึ่งจีนประสบในหลายประเทศ ที่จีนพยายามลงหลักปักฐานโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยจากรายงานของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีน ร้อยละ 75 ของการลงทุนที่มีมูลค่าสูงในโครงการดังกล่าวอยู่ในประเทศ ที่ “เปราะบาง” หรือไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง
ที่มา “After talks with China, Benin eases oil export ban against Niger” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์