xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะโลกร้อนกับโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งหน้า ผู้เชี่ยวชาญจีนเร่งศึกษาเตรียมพร้อมรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากกว่า 7 ล้านคน - ภาพ: Chinatopix ผ่าน AP
หลังจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ในทั่วโลกเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อเร็วๆ นี้ และถึงแม้ว่ายังคงปรากฏสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกก็เริ่มเตรียมพร้อมสำหรับโรคระบาดใหญ่ครั้งถัดไปที่จะมาถึงกันแล้ว

การศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อการกลายพันธุ์และการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อได้อย่างไร ความเข้าใจนี้จะช่วยให้สามารถป้องกันและรับมือกับโรคระบาดครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจาง เวินหง (Zhang Wenhong) ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อแห่งประเทศจีนก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เฝ้าจับตามองในเรื่องนี้

นายจาง เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคโควิด-19 ระดับแถวหน้าของจีน โดยในปี 2563 ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกด้านโรคโควิด-19 ของเซี่ยงไฮ้ กลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและเป็นบุคคลสำคัญในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในจีน


นายจาง ระบุว่า วิธีที่เชื้อโรควิวัฒนาการและกลายพันธุ์กำลังเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อนที่แผ่ขยายมากขึ้น ทำให้แหล่งกักเก็บแบคทีเรียและไวรัสกำลังขยายตัว สัตว์จะติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราได้มากขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคและพาหะโรค เช่น เห็บและยุง มีพื้นที่อาศัยมากกว่าเดิม โดยในสหรัฐอเมริกา อัตราการเกิดโรคไข้สมองอักเสบและโรคลายม์ (Lyme) ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะนั้นกำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนพบโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงเป็นพาหะในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซี ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน ก็เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อนขยายตัวจากตอนใต้ขึ้นมาตอนเหนือของประเทศ

 

•จาง เวินหง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำ กำลังพิจารณาผลกระทบทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเชื้อโรค ในขณะที่เขาเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกครั้งต่อไป  - ภาพ: Weibo
มีสมมติฐานว่าการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เกิดจากค้างคาวแพร่เชื้อไปยังมนุษย์ แหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวก็กำลังขยายตัวเช่นกัน นอกจากนี้ ในขณะที่พื้นที่ทางตอนเหนือ เช่น อะแลสกา ยังคงอุ่นขึ้น “สัตว์บางชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอาจเข้าสู่สังคมมนุษย์ของเรา” นายจางกล่าว รวมถึงแบคทีเรียและเชื้อราสายพันธุ์โบราณ

นอกจากนั้น วิวัฒนาการและการกลายพันธุ์ของโรคอาจทำให้เกิดการดื้อยาต้านจุลชีพ เมื่อแบคทีเรีย ปรสิต ไวรัส และเชื้อราพัฒนาความต้านทานต่อยาที่ใช้ฆ่าพวกมัน ถือเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง

สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ในอีกทศวรรษข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรค ที่อาศัยพาหะ เช่น มาลาเรีย นอกจากนั้น เชื้อโรคติดเชื้อสามารถเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์เมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษาอีกต่อไป

นายจาง เรียกร้องให้นานาชาติทำงานร่วมกันเพื่อสร้างข้อตกลงในการบริหารจัดการเชื้อโรคทั่วโลก และกำหนดยุทธศาสตร์ในการตอบโต้อย่างรวดเร็ว โดยนายจางในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับมหาวิทยาลัยฮ่องกง เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวในการประชุม ผู่เจียง อินโนเวชัน ฟอรัม (Pujiang Innovation Forum) ซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา


การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้นและการเฝ้าระวังโรคอยู่เป็นประจำ นักวิทยาศาสตร์อาจค้นพบ "สัญญาณเตือน" สำหรับการระบาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น นายจางระบุ


ที่มา “Why China’s top Covid expert is studying climate change to prepare for the next global pandemic” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น