พิพิธภัณฑ์หูหนานในนครฉางซา มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน เผยแพร่ภาพดิจิทัล 3 มิติของ “ท่านผู้หญิงซินจุย” มัมมี่สุภาพสตรีชนชั้นสูงอายุ 2,200 ปีจากจีนตอนกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในมัมมี่ที่ถูกเก็บรักษาศพแบบเปียกที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก เพื่อเผยให้เห็นภาพรูปร่างหน้าตาคร่าวๆของเธอ
ภาพสามมิติเผยให้เห็นผู้หญิงที่หน้าตาดูเป็นมิตร มัดมวยผม และแต่งหน้าอย่างอ่อนๆ ในท่านั่ง ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับหน้าตาของ “ซินจุย” ในวัย 35 ปี โดยก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่แบบจำลองแสดงใบหน้าของซินจุยตอนอายุ 50 ปี ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงอายุที่เธอเสียชีวิต
ต้วนเสี่ยวหมิง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เปิดเผยว่า ภาพดิจิทัลนี้สร้างขึ้นโดยอิงจากผลเอกซเรย์กะโหลกศีรษะซึ่งเอกซเรย์หลังจากขุดค้นพบศพเมื่อราว 50 ปีก่อน ควบคู่กับการสังเกตการณ์และบันทึกทางประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์เปิดตัวโครงการสร้างซินจุยให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านการจำลองใบหน้าขึ้นใหม่ได้รับเชิญให้มาร่วมสร้างประติมากรรมใบหน้าของซินจุย ก่อนส่งต่อให้บริษัทเทคโนโลยีสร้างแบบจำลองดิจิทัลของซินจุยวัย 50 ปี จากนั้นจึงนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาสร้างตัวตนของเธอในรูปแบบที่มีชีวิตเมื่ออายุ 35 ปี
อนึ่ง ท่านผู้หญิงซินจุย เป็นภรรยาของอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซาในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 25) ร่างของเธอถูกเก็บกู้กลับมาในปี 1972 จากโลงศพที่มีน้ำขังอยู่ในสุสานหม่าหวังตุย ซึ่งมีร่างสามีและลูกชายของเธอฝังอยู่ด้วย
ต้วน ระบุว่า จากการขุดค้นร่างของซินจุยยังคงสภาพเดิมด้วยผิวหนังที่อ่อนนุ่ม กล้ามเนื้อที่ยืดหยุ่น ขนตาและรอยนิ้วมือที่มองเห็นได้ ทว่าใบหน้าบวมและเน่าเปื่อยมากจนไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเธอมีหน้าตาอย่างไรก่อนเสียชีวิต
อวี้เยี่ยนเจียว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนิทรรศการของสุสานหม่าหวังตุยยุคราชวงศ์ฮั่น สังกัดพิพิธภัณฑ์เปิดเผยว่าในปี 2002 พิพิธภัณฑ์พยายามฟื้นคืนใบหน้าของซินจุยและสร้างรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของเธอ ทว่างานบูรณะยังไม่ค่อยน่าพึงพอใจเนื่องจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยี
บริษัท ฉางซา ดิจิทัล เวล เทคโนโลยี (Changsha Digital Whale Technology) บริษัทเทคโนโลยีที่ชุบชีวิตซินจุยให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เปิดเผยว่าโครงการล่าสุดนี้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหลายแบบเพื่อจำลองรูปลักษณ์ของซินจุยอย่างละเอียด เช่น รูขุมขนบนใบหน้า
หยวนจงเปียว ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองใบหน้า ระบุว่าการสร้างซินจุยในรูปแบบของผู้สูงอายุ ยังคำนึงถึงปัจจัยสุขภาพต่างๆ เช่น ลักษณะใบหน้าของผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจ และยังมีการค้นพบไข่พยาธิแส้ม้าและไข่พยาธิใบไม้เลือดจากร่างกายของเธอ ซึ่งบ่งชี้ว่าซินจุยน่าจะเกิดในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะต่ำต้อย และเคยทำนาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นแรกแย้ม
พิพิธภัณฑ์เผยว่าขั้นต่อไปคือการใส่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถพูดจาหลายภาษาเข้ากับแบบจำลองดิจิทัลของซินจุย โดยคาดว่าปัญญาประดิษฐ์แบบโต้ตอบนี้จะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
อนึ่ง การจำลองรูปลักษณ์ของซินจุย ถือเป็นความพยายามครั้งล่าสุดในการบูรณะรูปร่างหน้าตาของชาวจีนโบราณ โดยเมื่อเดือนมีนาคม นักโบราณคดีของจีนได้เผยแพร่ใบหน้าจำลองของเจ้าหน้าที่ยศต่ำในสมัยราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยอิงจากซากโครงกระดูกและวัตถุพิธีฝังศพ
ข่าวโดยสำนักข่าวซินหัว, 17 พ.ค.2024