คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์หมูคุณภาพสูงสายพันธุ์ใหม่ ชื่อว่าหมูหลานซือ (Lansi pigs) ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาหมูสายพันธุ์จากต่างประเทศของจีน
หมูสายพันธุ์ใหม่นี้เพาะพันธุ์โดยทีมวิจัยที่นำโดยหลี่ขุย ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันจีโนมิกส์ทางการเกษตรประจำเซินเจิ้น สังกัดสถาบันบัณฑิตเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการทรัพยากรพันธุกรรมปศุสัตว์และสัตว์ปีกระดับชาติของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทไม่นานมานี้
หลี่กล่าวว่า ความสำเร็จในการผสมพันธุ์หมูหลานซือถือเป็นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของจีน ซึ่งส่งมอบเทคโนโลยีที่สำคัญและประสบการณ์ล้ำค่าสำหรับการปรับปรุงพันธุ์หมูนำเข้าจำนวนมากในจีน
จีนเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคหมูรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการผลิตคิดเป็นร้อยละ 44 และการบริโภคคิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณการผลิตและการบริโภคหมูทั่วโลก ทว่าหมูกว่าร้อยละ 90 ที่ใช้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ต้องพึ่งพาสายพันธุ์นำเข้า
ตั้งแต่ปี 2010 ทีมงานของหลี่ได้ใช้เทคโนโลยีการผสมพันธุ์ทางชีวภาพใหม่ๆ เช่น การผสมพันธุ์แบบใช้เครื่องหมายพันธุกรรม (molecular marker) และการใช้สารพันธุกรรมทั้งหมด (whole genome) เพื่อเพาะเลี้ยงหมูสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพสูง โดยใช้หมูนำเข้าเชิงพาณิชย์สายพันธุ์ที่แพร่หลายอยู่แล้ว
ทีมงานรวบรวมประชากรหมูสายพันธุ์ดั้งเดิมมากกว่า 2,000 ตัว และพัฒนาชุดซอฟต์แวร์วิเคราะห์การผสมพันธุ์และระบบฐานข้อมูล ซึ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผสมพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ ลดระยะเวลาการผสมพันธุ์ และปรับปรุงความแม่นยำในการผสมพันธุ์
หลี่เสริมว่าทีมงานประสบความสำเร็จในการเพาะหมูหลานซือสายพันธุ์พิเศษ 3 สายพันธุ์ ในระยะเวลา 14 ปี หมูเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงลักษณะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ (economic traits) และความต้านทานโรคอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหมูพันธุ์นำเข้าดั้งเดิม และมาพร้อมโอกาสทางการตลาดในวงกว้าง