xs
xsm
sm
md
lg

New China insights&:เจาะลึกตลาดทุเรียนในจีน โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทุเรียนที่เตรียมส่งออกสู่จีนภายในโรงงานแปรรูปทุเรียนที่จังหวัดดั๊กลักของเวียดนาม วันที่ 15 ก.ย.2023 (แฟ้มภาพซินหัว)
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะขอเล่าถึงตลาดทุเรียนในจีน อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้ “King of fruit” ทำให้ทุเรียนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในไทยและต่างประเทศ และมีหนึ่งประเทศในโลกที่ประชากรบริโภคทุเรียนเฉลี่ยปีละมากกว่า 800,000 ตัน สัดส่วนการบริโภคทุเรียนคิดเป็น 82% ของทั้งโลก ทำให้ประเทศนี้มีความต้องการและนำเข้าทุเรียนในปริมาณที่มาก นั่นก็คือ “จีน”

ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกทุเรียนอันดับต้นๆของโลก แต่ละปีมีการส่งออกทุเรียนสดไปต่างประเทศหลักล้านตัน และส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังจีน ทำให้ในรอบเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาทุเรียนไทยเรียกได้ว่า “ผูกขาดตลาดทุเรียนในจีน” เลยทีเดียว แต่ตำแหน่งแชมป์หลายสมัยเริ่มสั่นคลอนเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากจีนอนุมัติการนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามในเดือน ก.ย. ปี 2022 (จีนและเวียดนามได้ลงนามในพิธีสารเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนสดของเวียดนามที่ส่งออกไปยังจีน) ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุเรียนสดเวียดนามหลั่งไหลเข้ามาขายในจีน จนทุเรียนเวียดนามสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดมาจากทุเรียนไทยได้บางส่วน

สื่อจีนมีการประเมินว่าความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนยังคงอยู่ในช่วงการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันไทยและเวียดนามเป็นซัปพลายเออร์หลัก ส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามรวมกันสูงถึง 95% แต่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีความกระตือรือร้นที่อยากจะส่งออกทุเรียนสดมายังจีนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซียที่ในช่วงปลายปีที่แล้วได้ยื่นเอกสารเพื่อขอดำเนินการนำเข้าทุเรียนสดกับรัฐบาลจีน ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองให้การตอบรับและร่วมมืออย่างดี มีการประเมินว่าภายในปีนี้มาเลเซียจะสามารถส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้ เพราะฉะนั้นทุเรียนมาเลเซียที่ขายอยู่ในจีนจะไม่ได้จำกัดแค่ทุเรียนแช่แข็งอีกต่อไป

อีกประเทศหนึ่งที่กำลังกระตือรือร้นพูดคุยเรื่องการส่งออกทุเรียนสดไปจีนคือประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ได้ยื่นเอกสารเพื่อส่งออกทุเรียนกับจีน และวางแผนที่จะขายทุเรียนจำนวน 54,000 ตันให้จีน ซึ่งคิดเป็นปริมาณการส่งออกทุเรียน 80% ของฟิลิปปินส์

แม้ว่ามาเลเซียและฟิลิปปินส์จะมีความท้าทายด้านระยะเวลาการขนส่งทุเรียนสดและต้นทุนที่สูงกว่าไทยและเวียดนาม แต่ความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีน และมาเลเซีย ฟิลิปปินส์จะมีมากขึ้นมและจะถูกยกระดับหากได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายอุปสรรคต่างๆ อาจจะได้รับการแก้ไขและบรรเทา

เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำด่านโหย่วอี้กวน หรือด่านมิตรภาพในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ตรวจสอบทุเรียนนำเข้าจากไทย (ภาพจากศุลกากรนครหนานหนิง )
โดยรวมแล้วการร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างจีนและอาเซียนจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะมาเลเซียกำหนดให้การค้าทุเรียนเป็นจุดเด่นของความร่วมมือด้านการเกษตรกับจีน ผลผลิตทุเรียนของมาเลเซีย (มูซันคิง) ในปี 2022 อยู่ที่ 455,000 ตัน และ 10% ของผลผลิตทุเรียนถูกส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงในรูปแบบแช่แข็ง

ข่าวที่หลายประเทศแข่งกันส่งออกทุเรียนไปจีนเป็นข่าวดังในไทย และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะทุเรียนจากหลายประเทศที่พยายามส่งออกไปจีนจะส่งผลกระทบต่อไทย ที่จะทำให้ตำแหน่งเจ้าตลาดเกิดการสั่นคลอน สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ด่านพรมแดนตอนใต้ของจีน ด่านโหย่วอี้กวน ณ มลฑลกว่างซี มีการนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 48,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นทุเรียนเวียดนาม 35,000 ตัน เพิ่มขึ้น 48% และทุเรียนไทย 13,000 ตัน ลดลง 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ด่านโหย่วอี้กวน ถือเป็นด่านทางบกขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในการนำเข้าทุเรียน ซึ่งปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีสามารถสะท้อนกระแสการบริโภคทุเรียนของผู้บริโภคจีนได้ โดยศุลกากรประจำมณฑลกว่างซี ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดผ่านด่านแห่งนี้ในปี 2023 มีมูลค่าสูงถึง 2.25 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 1.12 แสนล้านบาท โดยปริมาณทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนนี้ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทุเรียนที่จีนนำเข้าทั้งหมด

ในไตรมาสแรกของปีนี้ ปริมาณทุเรียนสดที่นำเข้าจากไทยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ กอปรกับสภาพภูมิอากาศไทยที่ร้อนกว่าปกติส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียนที่ลดลง

มาดูที่คู่แข่งไทยที่เร่งส่งออกทุเรียนไปจีน “เวียดนาม” กำลังเร่งขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนและปรับปรุงคุณภาพทุเรียนสดส่งออก เวียดนามเป็นผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นคู่แข่งสำคัญของทุเรียนไทย เวียดนามปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก แม้ว่าทุเรียนเวียดนามจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับทุเรียนไทยในตลาดจีน แต่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมากเลยทีเดียว

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง มิ.ย.2023 การส่งออกทุเรียนของเวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบ 19 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกทุเรียนในเวียดนามยังเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 2.3 แสนไร่ในปี 2017 มาเป็น 6.9 แสนไร่ในปัจจุบัน โดยมีผลผลิตรายปีประมาณ 863,000 ตัน

จากรายงานของสำนักงานคุ้มครองพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม กล่าวว่า “คุณภาพของทุเรียนเวียดนามได้รับการยอมรับในประเทศจีน แม้ว่าเวียดนามจะเริ่มส่งออกทุเรียนไปจีนอย่างจริงจังในช่วงปลายปี 2022 แต่ขณะนี้ทุเรียนเวียดนามมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 31.8% ของตลาดทุเรียนจีน รองจากไทยเท่านั้น”

ทุเรียนมาเลเซีย มูซันคิง แช่แข็งเตรียมส่งออกไปจีน (ภาพจากเว็บไซต์ Hema)
โดยเวียดนามจะใช้โอกาสและข้อได้เปรียบอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้ทุเรียนเวียดนามกินส่วนแบ่งการตลาดในจีนมากขึ้น ปัจจุบันเวียดนามได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทุเรียน และบรรจุภัณฑ์ที่จะส่งออกไปจีนให้เป็นไปตามเงื่อนไขจีนอย่างเคร่งครัด

มีการวิเคราะห์กันถึงเหตุผลที่ทุเรียนเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดจีน นอกเหนือจากผู้บริโภคจีนต้องการทางเลือกที่หลากหลายแล้ว ยังมีเหตุผลอื่น เช่น ฤดูกาลผลิตทุเรียนเวียดนามช้ากว่าไทย ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาการซัปพลายทุเรียนสดให้จีน และเติมเต็มช่วงช่องว่างของทุเรียนไทยในช่วงที่หมดฤดูทุเรียนได้ ต่อมาคือราคาทุเรียนเวียดนามค่อนข้างต่ำและสามารถแข่งขันด้านราคาได้ ซึ่งดึงดูดผู้บริโภคจีนที่อ่อนไหวด้านราคา สามารถซื้อทุเรียนในราคาที่ย่อมเยากว่าได้ และเวียดนามมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์โดยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับจีน จึงมีระยะเวลาขนส่งและต้นทุนต่ำ อีกทั้งยังเอื้อต่อการรักษาความสดและคุณภาพของทุเรียนด้วย

ในมุมของจีน มองทุเรียนไทยและเวียดนามไว้ว่า ถึงแม้เวียดนามจะตีตลาดทุเรียนสดในจีนอย่างรวดเร็ว แต่ทุเรียนไทยยังเป็นเจ้าตลาดอยู่ในอนาคตอันใกล้ การแข่งขันระหว่างทุเรียนไทยและเวียดนามในจีนจะดุเดือดมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีความเกื้อหนุนกันอยู่เพราะฤดูผลผลิตทุเรียนของไทยและเวียดนามไม่ได้ตรงกันซะทีเดียว

เนื่องจากการขายทุเรียนในตลาดจีนได้กำไรดี ทำให้ประเทศในอาเซียนหลายประเทศอยากจะแบ่งเค้กก้อนนี้ และความต้องการบริโภคทุเรียนของจีนยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ทำให้จีนลงนามข้อตกลงนำเข้าทุเรียนกับประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น จากประเทศฟิลิปปินส์ที่ก่อนหน้าส่งออกทุเรียนส่วนใหญ่ไปที่อินเดียและแอฟริกา ก็เบนเข็มเข้ามาจีน เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรของฟิลิปปินส์ได้เคยกล่าวไว้ด้วยว่า “ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล พื้นที่ปลูกทุเรียนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการส่งออกทุเรียนจะกลายเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของภาคเกษตรฟิลิปปินส์”

เท่ากับว่าตอนนี้ทุเรียนไทยในตลาดจีนอาจจะต้องเผชิญกับคู่แข่งที่มากขึ้นไม่ใช่แค่ เวียดนามแล้ว จีนผู้ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในครั้งนี้ ผู้บริโภคจีนจะได้กินทุเรียนคุณภาพดีในราคาถูกขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และการนำเข้าทุเรียนของจีนจากต่างประเทศยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น ถึงแม้ว่าจีนจะเริ่มปลูกทุเรียนของตัวเองในมณฑลไห่หนัน (ไหหลำ) เกาะทางใต้ของประเทศได้แล้ว แต่ผลผลิตยังน้อย รสชาติและราคายังสู้ไม่ได้กับทุเรียนนำเข้า สำหรับไทยผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ของโลกอาจจะต้องพยายามรักษาระดับคุณภาพทุเรียนส่งออกและเตรียมรับกับการแข่งขันที่กำลังจะยิ่งดุเดือดกว่านี้ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น