ทันทีที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียมาถึงแดนมังกรเมื่อวันพฤหัสฯ (16 พ.ค.) สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกคือการประกาศแถลงการณ์ร่วมสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการกระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านสำหรับยุคใหม่ภายใต้บริบทวาระครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-รัสเซีย
แถลงการณ์ร่วมนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเพียงใด หลังจากชาติมหาอำนาจทั้งสองได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วน “อย่างไม่มีขีดจำกัด” ระหว่างกันไปเมื่อ 2 ปีก่อน
ในการหารือระหว่างสี จิ้นผิงกับปูติน ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารมหาศาลาประชาชนและที่เรือนรับรองจงหนานไห่ กรุงปักกิ่งของจีน มีอยู่ตอนหนึ่งที่สี จิ้นผิงพูดขึ้นว่า นี่เป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังจากเริ่มวาระใหม่ในฐานะประธานาธิบดี จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตัว ปูตินเองและรัฐบาลรัสเซียให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสอง จีนรู้สึกชื่นชมสิ่งนี้มาก
สี จิ้นผิงยังเห็นด้วยกับปูติน ที่ระบุว่า จีนและรัสเซียต่าง “ปกป้องหลักการแห่งความยุติธรรมและระเบียบโลกที่เป็นประชาธิปไตยบนพื้นฐานของอำนาจหลายขั้วตามความเป็นจริงและกฎหมายระหว่างประเทศ” อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้หาใช่การฉกฉวยโอกาสและพุ่งเป้าหมายไปที่ใคร ความร่วมมือรัสเซีย-จีนเป็น “ปัจจัยหลักประการหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพในเวทีระหว่างประเทศ”
การมาเยือนของปูตินครั้งนี้ยังสร้างแรงผลักดันใหม่ต่อการค้าระหว่างจีน-รัสเซีย โดยผู้นำรัสเซียจะมาร่วมงานแสดงสินค้าจีน-รัสเซีย ครั้งที่ 8 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-21 พ.ค ในเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งติดกับภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย
นายอเล็กเซย์ มาสลอฟ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโก ให้สัมภาษณ์พิเศษโกลบอลไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัวร้อยละ 3.6 ในปี 2566 และจะเติบโตต่อไปในปีนี้ด้วยความร่วมมือกับจีนและประเทศอื่นๆ โดยรัสเซียเริ่มร่วมมือกับจีนในด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถึงกระนั้นรัสเซียยังต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกมากมาย รัสเซียจึงได้จัดตั้งศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งใหม่ขึ้นมาในภูมิภาคตะวันออกไกล
ด้านนายไมเคิล พิลส์เบอรี แห่งมูลนิธิเฮอริเทจของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์รายการข่าว Fox and Friends ขณะปูตินพบกับสี จิ้นผิงว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดำเนินนโยบายผิดพลาดมหันต์ที่ผลักดันให้มหาอำนาจนิวเคลียร์รัสเซียกับจีนต้องก้าวไปสู่การจับมือเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กัน
พิลส์เบอรี ระบุว่า จีนใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วง 75 ปีที่ผ่านมาขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต ดังนั้นเมื่อเห็นผู้นำทั้งสองมารวมตัวกันเขาจึงรู้สึกตกใจ
พิลส์เบอรีช่วยวอชิงตันกำหนดนโยบายจีนมาตั้งแต่ช่วงระหว่างปี 2513-2522 เคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ในกระทรวงกลาโหมและเป็นเจ้าหน้าที่ในคณะทำงานของวุฒิสภา ก่อนมาทำงานด้านจีนที่สถาบันฮัดสัน และมูลนิธิเฮอริเทจ
เขาระบุว่า สหรัฐฯ ดำเนินความพยายามมาหลายทศวรรษเพื่อแยกจีนกับรัสเซีย ซึ่งเริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน กับปักกิ่ง แต่สุดท้ายกลายเป็นความสูญเปล่า เมื่อรัฐบาลสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามใช้ภาษีนำเข้ามากดดันให้จีนร่วมมือกับสหรัฐฯ ในปี 2563 ส่วนรัฐบาลไบเดนก็ไม่ได้ลงมือทำอะไรในตอนที่จีน “ต้องการ” ตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งตอนนั้นชาติตะวันตกถือไพ่เหนือกว่า
ด้านนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินแสดงความเห็นเกี่ยวกับความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแยกจีนออกจากรัสเซีย ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) ว่า จีน "แข็งแกร่งเพียงพอ" ที่จะต่อต้านความพยายามกดดันที่ "หน้าด้านไร้ยางอาย" นี้
ที่มา : โกลบอลไทมส์ / ซินหัว / อาร์ทีนิวส์