กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หวั่นมัลดีฟส์มีหนี้สินท่วมหัวหมดปัญญาชดใช้ ออกแถลงการณ์เตือน แต่มิได้ระบุชื่อประเทศเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นต้นตอของความห่วงใย
คำเตือนเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ค.) ของไอเอ็มเอฟมีขึ้นในท่ามกลางสถานการณ์ที่ส่อเค้าว่ารัฐบาลใหม่ของมัลดีฟส์จะขอกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มูอิซซู ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ประเทศหมู่เกาะปะการังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมระดับหรูในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้เริ่มหันเหไปคบหาจีน ไม่พึ่งพาเงินทองจากอินเดีย ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูอย่างแต่ก่อน หนำซ้ำพรรคการเมืองของนายมูอิซซูยังกวาดชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากสัญญาว่าจะก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยหลายพันหลัง เวนคืนที่ดินเพื่อการพัฒนาเมือง และยกระดับมาตรฐานของสนามบินด้วยเงินทุนจากจีนทั้งหมดนี้
แถลงการณ์มีเนื้อหาว่า มัลดีฟส์ยังคงมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาหนี้ทั้งจากภายนอกและโดยรวม ซึ่งเสี่ยงผิดนัดชำระและอยู่ภายใต้การคุ้มครองการล้มละลาย (debt distress) โดยที่มัลดีฟส์เองมิได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญมารองรับ ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังที่ล่าช้า แนวโน้มความเสี่ยงนี้ยังมาจากการเติบโตที่อ่อนแอในตลาดต้นทางหลักสำหรับการท่องเที่ยวของมัลดีฟส์ ไอเอ็มเอฟจึงเรียกร้องให้มัลดีฟส์เพิ่มรายได้อย่างเร่งด่วน ลดการใช้จ่าย และลดเงินกู้ภายนอก เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สำคัญของมัลดีฟส์ โดยจีนให้คำมั่นว่าจะให้เงินทุนเพิ่มเติม หลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งของนายมูอิซซู ซึ่งรุดไปเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการในทันที ประธานาธิบดีคนใหม่กล่าวขอบคุณจีนสำหรับเงินทุนเพื่อการพัฒนาประเทศและความช่วยเหลืออย่างไม่เห็นแก่ตัว
ตามข้อมูลของทางการ มัลดีฟส์มีหนี้ต่างประเทศสูงถึง 4,038 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 หรือประมาณร้อยละ 118 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเพิ่มขึ้นเกือบ 250 ล้านดอลลาร์จากปี 2565
ณ เดือน มิ.ย.2566 หนี้ต่างประเทศของมัลดีฟส์มีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนเป็นเจ้าหนี้ร้อยละ 25.2 และยังเป็นผู้ให้กู้รายเดียวรายใหญ่ที่สุดของมัลดีฟส์อีกด้วย ตามตัวเลขของกระทรวงการคลังมัลดีฟส์
ศรีลังกาชาติเพื่อนบ้านของมัลดีฟส์ เคยผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศในปี 2565 หลังจากประสบวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงนานหลายเดือน โดยหนี้ที่ศรีลังกากู้ยืมในระดับทวิภาคีนั้นกว่าร้อยละ 50 กู้จากจีน
ขณะนี้ศรีลังกายังคงพยายามปรับโครงสร้างการกู้ยืมของตนโดยได้รับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ โดยในปี 2560 เนื่องจากไม่สามารถบริหารเงินกู้ก้อนโตจากจีนเพื่อนำมาก่อสร้างท่าเรือทางตอนใต้ได้ ศรีลังกาจึงทำสัญญาให้รัฐวิสาหกิจของจีนเช่าท่าเรือแห่งนี้เป็นระยะเวลา 99 ปี
สัญญาฉบับนี้จึงก่อความหวาดกลัวว่า จีนจะใช้ "กับดักหนี้" เป็นเครื่องมือแผ่อิทธิพลในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงในมหาสมุทรอินเดียด้วย
ที่มา : เอเอฟพี