xs
xsm
sm
md
lg

ยังสู้มะกันไม่ได้ แต่เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนคือการเติบโตที่แข็งแกร่งของกองทัพเรือจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝูเจี้ยนเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของจีน และเป็นลำแรกที่ติดตั้งระบบดีดส่งเครื่องบินด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic catapults) โดยเรือออกจากอู่ต่อเรือเจียงหนัน นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อเริ่มการทดลองเดินทะเลครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ภาพ : ภาพหน้าจอจากสถานีโทรทัศน์กลางของจีน
นักวิเคราะห์ชาติตะวันตกชี้เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนของจีน ซึ่งเริ่มการทดสอบเดินทะเลเป็นครั้งแรก ยังเป็นรองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาอยู่หลายขุม

ฝูเจี้ยน เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 และทันสมัยมากที่สุดของจีน โดยตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว มีระวางขับน้ำมากกว่า 80,000 ตัน เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่จีนออกแบบและต่อขึ้นเองทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนที่มีการติดตั้งระบบดีดส่งเครื่องบินด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic catapults) ซึ่งเรือบรรทุกเครื่องบิน เหลียวหนิง และซานตง ยังไม่มี การทดสอบการเดินทะเลเป็นครั้งแรกมีขึ้นเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือและความเสถียรของระบบขับเคลื่อนและระบบไฟฟ้าในขั้นต้น โดยเรือแล่นออกจากอู่ต่อเรือเซี่ยงไฮ้เจียงหนันเมื่อเช้าวันพุธ ( 1 พ.ค.)

อย่างไรก็ตาม นายจอห์น แบรดฟอร์ด สมาชิกสภาวิเทศสัมพันธ์การต่างประเทศ (Council on Foreign Relations International Affairs) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองของสหรัฐฯ ให้ความเห็นกับซีเอ็นเอ็นว่า แม้เขายอมรับว่าการทดสอบเดินทะเลเป็นครั้งแรกถือเป็น “เหตุการณ์สำคัญ” สำหรับกองทัพเรือจีน แต่เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนกฝยังไม่ถึงมาตรฐานเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ
 
นาวาตรีริชาร์ด คูยูมเจียน อิงกลิส (Richard Kouyoumdjian Inglis) แห่งกองหนุนกองทัพเรือชิลี เห็นด้วยว่า เรือฝูเจี้ยนยังไม่มีอะไรเทียบได้กับเรือบรรทุกเครื่องบินมะกัน


ภาพ : ซินหัว
เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนมีการติดตั้งระบบ catapult ซึ่งเหมือนกับเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ อย่างมาก นอกจากนั้น ขนาดของเรือและสัณฐานรูปร่างของดาดฟ้าขึ้นลงของเครื่องบินก็ใกล้เคียงกับเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ มากขึ้น แต่ก็ทำไม่ได้เท่า ตามรายงานของสถาบันให้บริการด้านการวิจัยของรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional Research Service)

บทวิเคราะห์ในปี 2564 ของศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา (CSIS) ระบุว่า เรือฝูเจี้ยนใช้พลังงานแบบปกติธรรมดาทั่วไป กล่าวคือเรือต้องแวะจอดที่ท่าเพื่อเติมน้ำมัน หรือเติมน้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมันกลางทะเล แตกต่างจากเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่สามารถอยู่ในทะเลได้นานเท่ากับกำหนดการประจำการของลูกเรือ


จากภาพถ่ายดาวเทียมเรือฝูเจี้ยนในปี 2564 CSIS ประเมินว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้มีความยาวประมาณ 984 ฟุต และกว้างประมาณ 131 ฟุต จึงมีขนาดเล็กกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นเจอรัลด์ ฟอร์ด ซึ่งมีความยาว 1,092 ฟุต และกว้าง 1,106 ฟุต


ตามรายงานของ Defense News และ Naval News เรือฝูเจี้ยนติดตั้งระบบ catapult 3 เครื่อง ซึ่งน้อยกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นเจอรัลด์ ฟอร์ด


ในแง่ขีดความสามารถบรรทุกเครื่องบิน ฝูเจี้ยนสามารถรองรับเครื่องบินได้ประมาณ 60 ลำ ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ สามารถบรรทุกได้ประมาณ 75 ลำ ตามการประเมินของ CSIS ซึ่งอ้างโดยซีเอ็นเอ็น


ภาพ : ซินหัว
ทั้งนี้ เรือฝูเจี้ยน ซึ่งตั้งชื่อตามมณฑลของจีนอยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวัน เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.2565 แต่กว่าเรือจะขึ้นประจำการได้นั้น คาดกันว่าต้องใช้เวลาทดสอบความพร้อมอย่างน้อย 1 ปี โดยเรือบรรทุกเครื่องบินรายเดียวในโลกที่มีระบบดีดส่งเครื่องบินด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้าคือเรือยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด ซึ่งสหรัฐฯ นำมาใช้งานในปี 2565 หลังขึ้นประจำการได้ 5 ปี

ภาพ : ซินหัว
อย่างไรก็ตาม ในฟากฝั่งของผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารแดนมังกร ฝูเจี้ยนคือเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ การเริ่มต้นทดสอบการเดินเรือถือเป็นการก้าวไปบนเส้นทางอันมั่นคงเพื่อเข้าสู่การประจำการในกองทัพเรือของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน เรือฝูเจี้ยนจะยกระดับขีดความสามารถของกองทัพเรืออย่างมีนัยสำคัญ และมีส่วนร่วมในการปกป้องอธิปไตยของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงอันถดถอยที่จีนกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ โดยคาดว่าเรือฝูเจี้ยนจะบรรทุกเครื่องบินขับไล่ J-15 เวอร์ชันใหม่ รวมถึงเครื่องบินใหม่ๆ เช่นเครื่องขับไล่ล่องหน J-35 รุ่นต่อไป เครื่องบินเตือนภัย KJ- 600 และเครื่องบินฝึกขั้นสูง JL-10

ที่มา : บิสซิเนสอินไซเดอร์/เดอะเทเลกราฟ/โกลบอลไทมส์



กำลังโหลดความคิดเห็น