เวลานี้บรรดาชาวติ๊กต็อกกำลังเคร่งเครียดกับเรื่องที่แพลตฟอร์มอาจถูกแบนในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกวิดีโอสั้นสัญชาติจีนใบนี้
อาชีพการงานที่สร้างมากับมือ ธุรกิจหลายล้านราย การครองชีพของนักสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์จำนวนนับไม่ถ้วนตลอดจนผลงานดนตรีและศิลปะสาขาต่างๆ จะถูกทำลายย่อยยับ นอกจากนั้น สิทธิเสรีภาพในการพูดการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญของคนอเมริกันซึ่งใช้ติ๊กต็อกมากถึง 170 ล้านคนกำลังถูกรัฐบาลลิดรอน และความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่มีนักสร้างคอนเทนต์เป็นผู้ขับเคลื่อน (creator economy) เหล่านี้คือสิ่งที่ชาวติ๊กต็อกกำลังวิตกกัน
รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ผลักดันการออกกฎหมายบังคับให้ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ขายกิจการติ๊กต็อกที่อยู่ในสหรัฐฯ ออกไปเสีย เพื่อไม่ให้กิจการในส่วนนี้ตกอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติแดนมังกร ซึ่งติ๊กต็อกอาจถูกบังคับให้มอบข้อมูลผู้ใช้งานให้รัฐบาลจีน หรืออาจถูกกดดันให้ขยายบางประเด็นให้ใหญ่โตตามความต้องการของปักกิ่ง โดยไม่กี่วันที่ผ่านมา ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามะกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามรับรองก็จะเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ในทันที
การประกาศห้ามการใช้ติ๊กต็อกทั่วประเทศอาจเกิดขึ้นในปี 2568 หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ หากไบต์แดนซ์ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนั้น ถ้ามีการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อขอให้ศาลระงับคำสั่งในกฎหมาย กระบวนการบังคับขายกิจการภายในเวลา 9 เดือน ย่อมล่าช้าออกไปอีก
ด้านติ๊กต็อกปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น พร้อมกับเรียกร้องให้ช่วยกันออกมาแสดงเหตุผลที่ไม่เอากฎหมายฉบับนี้ ชาวติ๊กต็อกขานรับทันที โดยหลายคนมองว่า การผลักดันกฎหมายเป็นความหน้าซื่อใจคดของรัฐบาลสหร้ฐฯ ที่เพ่งเล็งอยู่แค่แอปพลิเคชันเดียว
ลีโอ ลอนดินี ซึ่งมีผู้ติดตาม 9 ล้านคนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงปล่อยผ่านบริษัทอื่นๆ ซึ่งมีคนจีนถือหุ้นส่วน ยกตัวอย่างบริษัทเทนเซนต์ของจีนก็มีหุ้นอยู่ในเอพิกเกมส์ ยูนิเวอร์แซลกรุ๊ป วอร์เนอร์มิวสิกกรุ๊ป สปอติฟาย เทสลา สแนปแชต นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ของบริษัทแอปเปิลมากมายล้วนผลิตในจีน ลอนดินีเห็นว่า รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกจัดการอย่างไร หากพิสูจน์ได้จริงๆ ว่า บริษัทของจีนกำลังลอบสืบความลับชาวอเมริกัน
เบรตต์ แจนเซ่น ซึ่งแชร์ข่าวสารบนติ๊กต็อกมองว่าเป็นเทคนิคการสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน โดยรัฐบาลใช้ความไม่รู้ของประชาชนเกี่ยวกับติ๊กต็อกมาสร้างประโยชน์ให้รัฐบาลเอง และรัฐบาลกำลังทำแบบเดียวกับที่กล่าวหารัฐบาลจีนว่าควบคุมเนื้อหาและข้อมูลของผู้ใช้ติ๊กต็อก
ในมุมมองของชีรา ผู้สร้างคอนเทนต์โดยใช้ชื่อว่า shirashiraonthewall นั้น การแบนติ๊กต็อกเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเข้ามาควบคุมเนื้อหา สำหรับเธอแล้วติ๊กต็อกได้ปลูกฝังชุมชนขนาดใหญ่ที่ผู้คนพูดคุยกันเรื่องการเมืองและเรื่องราวต่างๆ ในปัจจุบัน โดยที่ไม่ถูกการโฆษณาชวนเชื่อแก้ไขดัดแปลง ผู้ใช้ติ๊กต็อกมากมายแค่อยากรู้ความจริง ถ้าไม่มีติ๊กต็อกตัวเธอเองก็คงไม่มีวันรู้เกี่ยวกับความอยุติธรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นในโลก และหากแบนติ๊กต็อก ธุรกิจของเธอที่ทำร่วมกับแบรนด์สินค้าบริษัทใหญ่ของอเมริกาจะไม่สามารถสร้างรายได้ผ่านทาง TikTok shop ได้อีกต่อไป การสั่งห้ามใช้ติ๊กต็อกจะถือเป็น “หายนะ” สำหรับเธอ เพราะงานของเธอหลายปีจะถูก “ลบทิ้งไปตลอดกาล” ถ้าย้ายไปทำที่ Reels บนอินสตาแกรม หรือ Shorts บนยูทูปก็ไม่แน่ใจว่าจะปังและสร้างกระแสไวรัลได้เหมือนในติ๊กต็อก เพราะคอนเทนต์ของเธอสร้างขึ้นมาเพื่อติ๊กต็อกโดยเฉพาะ
โฆษกคนหนึ่งของติ๊กต็อกเชื่อว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดผลไว้ล่วงหน้าแล้วคือการห้ามใช้ติ๊กต็อกในสหรัฐฯ ทั้งหมด
คาตาลินา โกอันต้า (Catalina Goanta) รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและเทคโนโลยีเอกชนประจำมหาวิทยาลัยยูเทรกต์ ในเนเธอร์แลนด์ระบุว่า เป็นเรื่องประหลาดและยากจะเข้าใจอย่างมากที่ร่างกฎหมายฉบับนี้พุ่งเป้าไปที่สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งที่มีธุรกิจอีกมากมายในสหรัฐฯ ที่มีข้อน่ากังวลในด้านความมั่นคง นอกจากนั้น ยังเป็นการพุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนโดยนักสร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัล และตามข้อมูลของโกลด์แมน แซคส์ คาดว่าจะมีมูลค่ามากถึงครึ่งล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 โดยดาวโซเชียลที่มีผู้คนติดตามมากที่สุดในโลกนั้นอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มากมายก่ายกอง ครองส่วนแบ่งการใช้จ่ายด้านการตลาดสำหรับอินฟลูเอนเซอร์บนสื่อทั่วโลกมากถึงราวร้อยละ 75 ในปี 2566 จากข้อมูลของสตาติสตา (Statista) การสูญเสียติ๊กต็อกจึงเป็นความเสียหายที่น่าสะพรึง
จาก “TikTok ban: influencers fear careers will be destroyed, work will be ‘deleted forever’ as US ban looms” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์