xs
xsm
sm
md
lg

บันทึก ‘ซีกไม้โบราณ’ เผยความเท่าเทียมทางเพศ-ประสิทธิภาพระบบราชการ “ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จางชุนหลง นักวิจัยจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลหูหนาน ตรวจดูซีกไม้ที่ค้นพบจากเมืองโบราณหลี่เยในอำเภอหลงซาน แคว้นปกครองตนเองเซียงซี กลุ่มชาติพันธุ์ถู่เจียและเหมียว มณฑลหูหนาน วันที่ 20 ธ.ค. 2017 (แฟ้มภาพซินหัว)
เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีของจีนเผยความคืบหน้าในการศึกษา “บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” (Liye Qin Slips/里耶秦简)  โดย “บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” ได้ฉายภาพการปกครองและชีวิตสังคมอย่างกว้างขวางจากช่วงรุ่งโรจน์จนถึงกาลล่มสลายของยุครวมแผ่นดินจีนที่ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งผู้ก่อตั้งราชวงศ์ คือปฐมจักรพรรดิแห่งจีน “ฉินสื่อหวง” หรือที่ชาวไทยคุ้นหูในชื่อ จิ๋นซีฮ่องเต้

รายงานความคืบหน้าในการศึกษา “บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” เผยการค้นพบที่โดดเด่นในด้านหนึ่งว่า ผู้หญิงในยุคราชวงศ์ฉินอาจมีสิทธิครอบครองมรดกทรัพย์สมบัติและความรับผิดชอบทางสังคมเช่นเดียวกับผู้ชาย

ซีกไม้จากราชวงศ์ฉินที่ได้รับการบูรณะหลังจากถูกขุดพบจากเมืองโบราณหลี่เย (แฟ้มภาพซินหัว)
บันทึกซีกไม้ที่ขุดพบจากเมืองโบราณหลี่เย จารึกเรื่องราวของบิดาครอบครัวหนึ่ง นามว่า “ก่วง” ได้แจ้งความประสงค์กับสำนักงานปกครองท้องถิ่นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินของตนเอง ทั้งบริวาร สินค้า และเงิน รวม 11 รายการ ให้บุตรสาวนามว่า “หู” ซึ่งกำลังเข้าพิธีแต่งงาน โดยบันทึกซีกไม้นี้ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นนามว่า “เสิ่น” ในตอนนั้น

จางชุนหลง นักวิจัยประจำสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลหูหนาน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมขุดค้น “บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” เผยว่า จำนวนทรัพย์สินดังกล่าวเทียบเท่ากับรายได้ของผู้ชายที่ทำงานเต็มเวลาในตอนนั้นเป็นเวลา 20 ปี

บันทึกซีกไม้ที่แตกร้าว ซึ่งขุดพบจากเมืองโบราณหลี่เย วันที่ 12 เม.ย. 2024 (แฟ้มภาพซินหัว)
“บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” ยังจารึกกรณีของแม่ม่ายที่ดูแลจัดการครัวเรือนด้วยตัวเอง อีกทั้งกรณีผู้หญิงที่ทำงานใช้แรงงานต่างๆ ร่วมกับผู้ชาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในยุคราชวงศ์ฉิน ผู้ชายและผู้หญิงมีความรับผิดชอบทางสังคมเท่าเทียมกัน

อนึ่ง เมืองโบราณหลี่เยตั้งอยู่ในอำเภอหลงซาน แคว้นปกครองตนเองเซียงซี กลุ่มชาติพันธุ์ถู่เจียและเหมียว มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน โดยคณะนักโบราณคดีขุดพบซีกไม้จากยุคราชวงศ์ฉินจากบ่อหมายเลข 1 ของซากเมืองโบราณแห่งนี้มากกว่า 36,000 อัน ซึ่งมีจำนวนคำทั้งหมดมากกว่า 200,000 คำ ในปี 2002


บันทึกซีกไม้เหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งการค้นพบสำคัญของโบราณคดีราชวงศ์ฉินต่อจากสุสานนักรบดินเผา ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเอกสารของหน่วยปกครองท้องถิ่นในอำเภอเชียนหลิง แคว้นต้งถิง โดยเป็นเอกสารที่ออกตั้งแต่ช่วงหนึ่งปีก่อนการรวมแผ่นดินจนถึงช่วงหนึ่งปีก่อนการล่มสลายของราชวงศ์ฉิน

เนื้อหาของบันทึกซีกไม้เหล่านี้ครอบคลุมข้อมูลประชากร การผลิต การจัดเก็บภาษี การขนส่งสิ่งของ ศาลยุติธรรม และการแพทย์ ซึ่งช่วยฉายภาพรวมการบริหารปกครองบ้านเมืองของจักรพรรดิองค์แรกของจีน รวมถึงการดำเนินงานของระบบปกครองระดับรากหญ้า

หลงจิงซา นักโบราณคดีและผู้นำการขุดค้นบ่อหมายเลข 1 กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์ฉินนั้นมีอยู่อย่างจำกัดมาโดยตลอด ซึ่งการตีความและจัดระเบียบเนื้อหาของบันทึกซีกไม้จำนวนมหาศาลเหล่านี้อาจเติมเต็มช่องว่างทางประวัติศาสตร์ได้

“จดหมายทางการจากเชียนหลิงถึงต้งถิง” ซีกไม้ไผ่จารึกข้อความส่งจากเชียนหลิงไปตำบลหมู่บ้านต่างๆ อย่างต้งถิง อาจเป็นจดหมายยุคแรกๆ ของจีน ซึ่งยังเผยถึงประสิทธิภาพของหน่วยปกครองบ้านเมืองในยุคจีนโบราณกว่าสองพันปีที่แล้ว
“บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” บ่งชี้การส่งเอกสารราชการต่างๆ ที่ราบรื่นในยุคราชวงศ์ฉิน การเบิกวัสดุที่มีประสิทธิภาพ และการบันทึกของระบบจัดการบุคลากรที่มีความละเอียดลออ สะท้อนการจัดตั้งระบบกำกับดูแลและประเมินผลจากบนลงล่างภายใต้อำนาจของฉินสื่อหวง

โจวตงเจิง ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน ระบุว่า ผู้ปกครองราชวงศ์ฉินใช้ระบบการปกครองแบบอำเภอและแคว้น ซึ่งกระชับความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น โดยระบบดังกล่าวไม่เพียงเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ แต่มีส่วนส่งเสริมประวัติศาสตร์จีนอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

จำนวนและชื่อเฉพาะของแคว้นที่ก่อตั้งขึ้นในยุคราชวงศ์ฉินนั้นแม้ถูกตีความแตกต่างกัน แต่การกล่าวถึงแคว้นต้งถิงในบันทึกซีกไม้เหล่านี้ยังไม่เคยพบในเอกสารทางประวัติศาสตร์ใดๆ จึงเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการพิจารณาระบบการปกครองของราชวงศ์ฉิน

ทั้งนี้ บันทึกทางประวัติศาสตร์หลายฉบับชี้ว่าราชวงศ์ฉินส่งเสริมการสร้างมาตรฐานการเขียน โดยมีการรวบรวมชื่อของสิ่งต่างๆ ตามประเพณีและระบบของราชวงศ์ฉิน

ทีมผู้เชี่ยวชาญเผยว่าในยุคที่การสื่อสารและการคมนาคมยังด้อยพัฒนา แต่คำสั่งการจากรัฐบาลกลางสามารถเข้าไปถึงพื้นที่ชายแดนอันห่างไกลอย่างอำเภอเชียนหลิงโดยตรงได้นั้น บ่งชี้ถึงการรวมศูนย์อำนาจระดับสูงภายใต้อำนาจปกครองราชวงศ์ฉิน และระบบจัดส่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างดี

จางชุนหลงเสริมว่า ความเร็วของการส่งเอกสารราชการสู่ประชาชนสะท้อนถึงประสิทธิภาพของกลไกรัฐ โดยสำนักงานรัฐบาลในยุคราชวงศ์ฉินมักเปิดทำการตอน 6-7 โมงเช้า ไปถึง 4-5 โมงเย็น และมีการส่งเอกสารกันตลอดทั้งวัน

ช่องทางการสื่อสารที่ราบรื่นของหน่วยปกครองท้องถิ่นระดับต่างๆ ใช้ระบบการขนส่งแบบวิ่งผลัด โดยมีการบันทึกการส่งและการรับ ตลอดจนความล่าช้าของเอกสารราชการบนซีกไม้ อีกทั้งการประทับเวลาห่างกันสองชั่วโมงอย่างแม่นยำ

ส่วนหนึ่งของ “บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” ฉบับดั้งเดิม ทั้งนี้บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน ส่วนใหญ่เป็นเอกสารราชการ
โจวตงเจิง กล่าวว่า เอกสารราชการที่อยู่ใน “บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” ยังเป็นบันทึกการประเมินการปฏิบัติงานของข้าราชการท้องถิ่น เช่น นายอำเภอและผู้ว่าราชการแคว้นในยุคราชวงศ์ฉิน ซึ่งต้องรายงานการบริหารปกครองพื้นที่ต่อราชสำนักทุกปี เพื่อมอบรางวัล หรือลงโทษ

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าราชวงศ์ฉินใช้ระบบประเมินข้าราชการที่เข้มงวด เชื่อมโยงกับผลการปฏิบัติงาน เงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่ง กระตุ้นให้เหล่าข้าราชการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของตนเอง

“บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” ยังมีเนื้อหาด้านอื่นๆ เช่น การเข้างาน การแต่งตั้ง และการโยกย้ายข้าราชการ รวมถึง “เรซูเม่” ที่แจกแจงตำแหน่ง วันแต่งตั้ง และ “บันทึกการเข้าออกงาน” ซึ่งระบุจำนวนวันที่ข้าราชการแต่ละคนเข้างานและจำนวนงานที่ทำเสร็จสิ้น ตลอดจนเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินการทางกฎหมายกับคนจำนวนมากอย่างเข้มงวดในยุคสมัยนั้น เช่น การไล่ล่าชาย 12 คน ที่ติดหนี้รัฐบาลในอำเภอหยางหลิง และการบังคับใช้แรงงานเป็นการชดเชยกรณีไม่สามารถชำระหนี้สินได้

หลงจิงซา นักโบราณคดีและผู้นำการขุดค้นบ่อหมายเลข 1 ของซากเมืองโบราณหลี่เย กำลังดูรูปภาพการขุดค้นที่พิพิธภัณฑ์ซีกไม้หลี่เยฉิน อำเภอหลงซาน แคว้นปกครองตนเองเซียงซี มณฑลหูหนาน วันที่ 8 เม.ย. 2024 (แฟ้มภาพซินหัว )
ลูกหนี้แต่ละคนต้องทำงานนาน 3 ปี 11 เดือน โดยกำหนดจากค่าจ้างรายวันตามมาตรฐานในตอนนั้น ซึ่งบ่งชี้ถึงความเคร่งครัดของกฎหมายราชวงศ์ฉิน นอกจากนี้ ใน “บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” ยังลงรายละเอียดจำนวนคนที่ถูกบังคับใช้แรงงาน รวมถึงสถานะการหลบหนีและเสียชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น

ในอำเภอเชียนหลิงเพียงแห่งเดียวมีผู้ถูกตัดสินให้ใช้แรงงานตลอดชีวิตถึง 4,376 ราย ในเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของปีที่ 34 แห่งรัชสมัยฉินสื่อหวง (213 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยหนึ่งในเจ็ดของผู้ต้องโทษกลุ่มนี้เสียชีวิตภายในระยะเวลาหนึ่งปี

ปัจจุบันมีการเปิดเผยข้อมูลจาก “บันทึกซีกไม้หลี่เยฉิน” มากกว่าครึ่งหนึ่งสู่สาธารณชนแล้ว โดยการรวมชาติและการปกครองของราชวงศ์ฉินมีความท้าทายอย่างยิ่ง บันทึกซีกไม้แต่ละชิ้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารปกครองแผ่นดินในยุคที่เก่าแก่ถึงกว่า 2,200 ปี กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในปัจจุบัน

ที่มาข่าว สำนักข่าวซินหัว

บ่อหมายเลข 1 ที่มีการขุดพบบันทึกซีกไม้ยุคราชวงศ์ฉินมากกว่า 36,000 ชิ้น เมื่อปี 2022 ในเมืองโบราณหลี่เย อำเภอหลงซาน แคว้นปกครองตนเองเซียงซี มณฑลหูหนาน วันที่ 8 เม.ย. 2024 (แฟ้มภาพซินหัว )


กำลังโหลดความคิดเห็น