มีการคาดกันว่า คนจีนจะออกเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดแรงงานสากลเดือนพฤษภาคมนาน 5 วัน ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยม เห็นได้จากยอดการจองทัวร์ผ่านทางบริษัทให้บริการจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเครื่องบินออนไลน์รายใหญ่ๆ
ตามรายงานของทริปด็อตคอมกรุ๊ป (Trip.com Group) นั้น การเดินทางระยะไกลและระยะกลางได้รับความสนใจในช่วงวันหยุดแรงงาน แตกต่างจากช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ที่ผู้คนนิยมเดินทางในระยะใกล้
นอกจากนั้น รายงานยังระบุว่า มีความนิยมเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุดแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2566 โดยความนิยมในการเสิร์จหาโรงแรมและเที่ยวบินในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2566 แต่การเสิร์จหาเที่ยวบินขาออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อู๋ ลี่อวิ้น อาจารย์ประจำสถาบันวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน มหาวิทยาลัยนานาชาติศึกษาปักกิ่งระบุว่า เนื่องจากการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นด้านการบิน คาดว่าตลาดการท่องเที่ยวขาเข้าและขาออกของจีนจะเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2567 ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลกให้ฟื้นตัว สถาบันการท่องเที่ยวจีนคาดการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าจำนวนการเดินทางออกนอกประเทศอาจสูงถึง 130 ล้านคนในปี 2567
สำหรับการท่องเที่ยวขาออก รายงานของทริปด็อตคอมกรุ๊ประบุจุดหมายปลายทางยอดนิยมมีญี่ปุ่น ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซียรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน การจองการเดินทางไปยังประเทศและภูมิภาคที่อยู่ในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เช่นซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ มีอัตราเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว
นอกจากนี้ แพกเกจล่องเรือสำราญระหว่างประเทศ ซึ่งออกเดินทางจากเซี่ยงไฮ้และเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีนก็ขายเกือบหมดแล้ว
ถงเฉิงแทรฟเวิล (Tongcheng Travel) รายงานว่า มีคนจีนในเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางเริ่มวางแผนท่องเที่ยวนอกประเทศกันมากขึ้น โดยจุดหมายปลายทางในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นตัวเลือกแรก
สำหรับการท่องเที่ยวขาเข้า ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม ทริปด็อตคอมกรุ๊ปรายงานว่า การจองการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 130% เมื่อเทียบกับปี 2566 นักท่องเที่ยวหลักๆ มาจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และแคนาดา จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว
ที่มา : โกลบอลไทมส์