xs
xsm
sm
md
lg

ศก.จีนไตรมาสแรกขยายตัวเกินคาด ตั้งเป้าหมายปี 2567 โตร้อยละ 5 ไม่ไกลเกินเอื้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คนงานกำลังประกอบรถเอสยูวีที่โรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัทหลี่ออโต้ (Li Auto) ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนในเมืองฉางโจว มณฑลเจียงซูทางตะวันออกเมื่อวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 - ภาพเอพี
ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเมื่อวันอังคาร (16 เม.ย.) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2567 ของจีนมีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 4.8 และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

นอกจากนั้น ผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7% การลงทุนคงที่ (Fixed investment) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5%

ตัวเลขน่าประทับใจในไตรมาสแรกนี้ได้รับแรงหนุนจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในภาคการส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไฮเทค การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งช่วยส่งเสริมการลงทุน


นักวิเคราะห์จีนระบุว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสแรกเป็นสิ่งยืนยันว่า เศรษฐกิจจีนสามารถพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว หลังจากซบเซาในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด นอกจากนั้น ตลาดผู้บริโภคและสินค้าภาคอุตสาหกรรมของจีนยังมีความน่าดึงดูดใจ ซึ่งขัดแย้งกับการรายงานของสื่อตะวันตกบางสำนักที่ระบุว่า เศรษฐกิจจีนมาถึงจุดสูงสุดแล้ว

การเริ่มต้นปีอย่างแข็งแกร่งนี้เป็นการปูทางไปสู่เป้าหมายการเติบโตตลอดทั้งปี 2567 ที่ราวร้อยละ 5 ดังที่รัฐบาลตั้งเป้า โดยเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ยังคงแข็งแกร่งที่สุดในบรรดาชาติเศรษฐกิจใหญ่ๆ และยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจประจำไตรมาสแรกของปี 2567 - ภาพ : โกลบอลไทมส์
ข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดนี้มีขึ้นไม่กี่วัน หลังจากที่จีนรายงานตัวเลขการนำเข้าและส่งออกที่ลดลงในเดือน มี.ค. รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงตามแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดนานหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของอ็อกซ์ฟอร์ดอิโคโนมิกส์ชี้ว่า ปัจจัยต่างๆ เช่น การคลี่คลายของสินค้าคงคลังส่วนเกิน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่กลับสู่ปกติหลังวันหยุดเทศกาล ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในไตรมาสที่ 2 ได้


ที่มา : โกลบอลไทมส์/เอพี



กำลังโหลดความคิดเห็น