xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ขายให้ก็ต้องสร้างเอง หัวเว่ยเร่งวิจัยพัฒนาเครื่องมือผลิตชิปประสิทธิภาพสูงแข่งกับ ASML

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจีนกำลังก่อสร้างศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) ขนาดใหญ่ใกล้นครเซี่ยงไฮ้ โดยวางแผนพัฒนาเครื่องมือการผลิตชิป ซึ่งประสิทธิภาพพอจะสู้กับระบบที่ออกแบบโดยบริษัท เอเอสเอ็มเอล (ASML) แคนนอน และนิคอนได้ ตามรายงานของสำนักข่าวนิกเกอิ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนา เครื่องลิโทกราฟี เขียนลวดลายวงจรไฟฟ้าบนแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างชิป หลังจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการจำกัดควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีให้แก่จีน ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของหัวเว่ยคือ เอสเอ็มไอซี (Semiconductor Manufacturing International Co – SMIC) และหัวหง (Hua Hong) ไม่สามารถหาซื้อเครื่องลิโทกราฟี ซึ่งสามารถสร้างชิปลอจิกที่ใช้เทคโนโลยีการประมวลผล FinFET ขนาด 14 นาโนเมตร/16 นาโนเมตร และกระบวนการขั้นสูงอื่นๆ ได้ แต่บริษัททั้งสองยังคงหาซื้อเครื่องลิโทกราฟี ซึ่งมีความสามารถในระดับ 28 นาโนเมตรได้อยู่ ฉะนั้น เครื่องลิโทกราฟีที่
หัวเว่ยกำลังวิจัยคิดค้นนี้จะต้องมีความสามารถในระดับอย่างน้อย 28 นาโนเมตร หรือดีกว่านั้นคือ 14 นาโนเมตร/16 นาโนเมตร

ปัจจุบัน การผลิตเครื่องลิโทกราฟีอยู่ในมือของบริษัทเพียง 3 เจ้าเท่านั้นคือ เอเอสเอ็มเอลของเนเธอร์แลนด์ แคนนอน และนิคอนของญี่ปุ่น บริษัทเหล่านี้ให้ความร่วมมือกับมาตรการของสหรัฐฯ


ศูนย์วิจัยและพัฒนาตั้งอยู่ในเขตฉิงผู่ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาเขตขนาดใหญ่ของหัวเว่ย ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับไฮซิลิคอนที (HiSilicon T) ซึ่งเป็นหน่วยออกแบบชิป ตลอดจนศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับเทคโนโลยีไร้สายและสมาร์ทโฟน

วิทยาเขตแห่งนี้ลงทุนทั้งสิ้น 12,000 ล้านหยวน ครอบคลุมพื้นที่เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลราว 224 สนามรวมกัน เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถรองรับพนักงานได้มากกว่า 35,000 คน


สำหรับพนักงานในศูนย์แห่งใหม่ หัวเว่ยเสนอแพกเกจเงินเดือนที่มีมูลค่าสูงถึง 2 เท่าของผู้ผลิตชิปในท้องถิ่นเพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูง และได้มีการว่าจ้างวิศวกรที่มีประสบการณ์ในการสร้างเครื่องมือผลิตชิปและการผลิตชิปชั้นนำแล้ว ขณะนี้หัวเว่ยและบริษัทจีนอื่นๆ ไม่สามารถว่าจ้างพลเมืองอเมริกันและผู้ถือกรีนการ์ดสหรัฐฯให้เป็นผู้นำโครงการได้อีกต่อไป ขณะที่เอเอสเอ็มเอล แอปพลายด์แมตทีเรียลส์ (Applied Materials) เคแอลเอ (KLA) และแลมรีเสิร์จ (Lam Research) ต่างลดการปรากฏตัวในจีน


หัวเว่ยมีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 164,700 ล้านหยวนในปี 2566 หรือร้อยละ 23.4 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งอาจมีส่วนมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในการพัฒนาเครื่องมือผลิตแผ่นเวเฟอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของชิป ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทในด้านนวัตกรรม


จาก “Huawei builds major tool R&D center in Shanghai” ในเว็บไซต์ Tom's Hardware



กำลังโหลดความคิดเห็น