สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทจีน 4 แห่ง โทษฐานช่วยเหลือกองทัพพญามังกรครอบครองชิปปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ด้านปักกิ่งยัวะบริษัทค้าอาวุธมะกัน 2 แห่ง ที่ขายอาวุธให้ไต้หวัน สั่งคว่ำบาตรเสียเลย
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมักขู่ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับบริษัทค้าอาวุธของสหรัฐฯ แต่ลงมือไม่บ่อย เพราะเกรงจะกระทบกับเศรษฐกิจแดนมังกร ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวดีจากภาวะซบเซา อันเกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 การว่างงานสูง และต่างประเทศลดการลงทุน
จนกระทั่งเมื่อวันพฤหัสฯ (11 เม.ย.) คำสั่งคว่ำบาตรก็ประกาศเปรี้ยงโดยกระทรวงการต่างประเทศกับสองบริษัทได้แก่ เจเนอรัล อะตอมมิกส์ แอโรนอติคอล ซิสเต็มส์ (General Atomics Aeronautical Systems) และ เจเนอรัล ไดนามิกส์ แลนด์ ซิสเต็มส์ (General Dynamics Land Systems) โดยให้อายัดทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ในจีน และห้ามผู้บริหารของบริษัทเข้าประเทศ
จีนอ้างเหตุผล สหรัฐฯ ไม่หยุดขายอาวุธให้ไต้หวัน ซึ่งละเมิดหลักการจีนเดียวและบทบัญญัติของแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นการแทรกแซงกิจการภายใน บ่อนทำลายอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน โดยจีนยืนยันว่าเกาะไต้หวัน ซึ่งกองกำลังชาตินิยมของเจียงไคเช็คหลบหนีไปในระหว่างสงครามกลางเมืองเมื่อ พ.ศ.2492 นั้นเป็นภูมิภาคหนึ่งของจีน
บริษัทเจเนอรัล ไดนามิกส์ ดำเนินธุรกิจให้บริการเช่าเครื่องบินเจ็ตและเครื่องบินหรูส่วนตัวแบรนด์กัลฟ์สตรีม ในจีน นอกจากนั้น ยังช่วยผลิตรถถังเอบรามส์ ซึ่งไต้หวันซื้อมาแทนที่ยานยนต์หุ้มเกราะรุ่นเก่า เสริมเขี้ยวเล็บหากถูกจีนรุกราน ส่วนบริษัทเจเนอรัล อะตอมมิกส์ คือผู้ผลิตโดรนพิฆาตพรีเดเตอร์ และรีปเปอร์ แต่ทางการจีนไม่ระบุว่าบริษัทเกี่ยวข้องกับการจัดหาอาวุธแก่ไต้หวันอย่างไร
การคว่ำบาตรกระทำภายใต้กฎหมายแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการต่อต้านการคว่ำบาตรจากต่างชาติ ซึ่งตราขึ้นเมื่อไม่นาน เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีน ด้วยข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ก่อนหน้านี้บริษัทเล็อกฮีด มาร์ติน และบริษัท เรย์ทีออน มิสไซลส์ แอนด์ ดีเฟนส์ (Raytheon Missiles & Defense) ถูกจีนห้ามเข้าตลาด หลังจากมีการใช้เครื่องบินและขีปนาวุธของบริษัททั้งสองในปฏิบัติการสอยบอลลูนจีนที่บินข้ามสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว
ด้านสหรัฐฯ ซึ่งกลัวจีนจะนำเทคโนโลยีชิปเซมิคอนดักเตอร์ล้ำหน้าของตนไปพัฒนากองทัพนั้น เมื่อวันพุธ (10 เม.ย.) ก่อนหน้าจีนประกาศคว่ำบาตรเพียง 1 วัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เพิ่มบริษัทจีนอีก 4 แห่งในบัญชีดำเอนทิตีลิสต์ (Entity List) ได้แก่บริษัทลิงก์ซอล (ปักกิ่ง) เทคโนโลยี (LINKZOL (Beijing) Technology Co.) บริษัทซีอาน อินโนเวทีฟ อินฟอร์เมชัน เทคโนโลยี (Xi’an Like Innovative Information Technology Co.) บริษัทปักกิ่ง แอนไวส์ เทคโนโลยี (Beijing Anwise Technology Co.) และบริษัทไซตันโฮลี (เทียนจิน) (SITONHOLY (Tianjin) Co.)
นายเควิน เคอร์แลนด์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับการส่งออกของกระทรวงระบุว่า บริษัททั้ง 4 มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหาชิปเอไอให้โครงการพัฒนาความทันสมัยของกองทัพจีน รวมถึงใช้ในการสอดแนมของกองทัพ
บริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำประเภทนี้ บริษัทอเมริกันที่เป็นซัปพลายเออร์ต้องขอใบอนุญาตจากกระทรวงในการจัดส่งสินค้าและเทคโนโลยีให้ การขอใบอนุญาตมีแนวโน้มถูกปฏิเสธ
เอนทิตีลิสต์เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เล่นงานจีนมานานหลายปี โดยสหรัฐฯ ถือว่า กลุ่มองค์กร บริษัท และบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เมื่อถูกขึ้นบัญชีแล้วก็ยากจะถูกถอน ยกเว้นครั้งเดียวที่สหรัฐฯ ยินยอมถอนห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งของรัฐบาลจีนออกจากบัญชี ตามข้อตกลงในการร่วมกันปราบปรามยาแก้ปวดเฟนทานิล ซึ่งระบาดหนักในสหรัฐฯ
ในการประกาศดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังมีบริษัทจีนอีก 2 แห่งอยู่ในรายชื่อ 5 บริษัทที่ถูกจำกัดการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลช่วยผลิตรวมถึงจัดหาโดรนให้รัสเซียใช้โจมตียูเครน และให้กบฏฮูตีซึ่งมีอิหร่านหนุนหลังใช้โจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง
ที่มา : เอพี/รอยเตอร์/บลูมเบิร์ก