บริษัท TSMC ของไต้หวันคือหนึ่งในเพชรประดับยอดมงกุฎของโครงการริเริ่มสร้างสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ตามปณิธานของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน
ทว่าเมื่อบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกประกาศขยายการลงทุนและจะสร้างโรงงานเพิ่มเป็นแห่งที่ 3 ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เพื่อผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตร ชิปขั้นซูเปอร์แอดวานซ์ล้ำสมัยที่สุดในโลก ก็ต้องเจอกับคำถามเดิมๆ ที่หลายคนยังค้างคาใจว่า จะหาน้ำจากที่ไหนสำหรับกระบวนการผลิต เพราะฟีนิกซ์เป็นเมืองแล้งสุดๆ แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ
ฟีนิกส์อยู่ในภาวะแห้งแล้งมานานกว่า 10 ปี จนรัฐแอริโซนาต้องจำกัดการพัฒนาโครงการเคหะบางแห่งเมื่อปี 2566 เนื่องจากมีน้ำใต้ดินไม่เพียงพอ
แต่การผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ต้องอาศัยน้ำปริมาณมาก เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ (S&P Global Ratings) รายงานว่า อุตสาหกรรมการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกใช้น้ำมากเกือบพอๆ กับที่นครนิวยอร์กใช้กันอยู่ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายนี้เตือนเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่า การขาดแคลนน้ำคืออันตรายในทศวรรษหน้าสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคชิปเซมิคอนดักเตอร์
โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องอาศัยน้ำทำความสะอาดแผ่นซิลิคอน ซึ่งเป็นแผ่นสำหรับสร้างชิปคอมพิวเตอร์ โดย TSMC รับจ้างผลิตชิปให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น อาร์ม เอ็นวิเดีย และแอปเปิล โรงงานของ TSMC จะต้องใช้น้ำมากเพียงใดในการผลิตชิปที่มีความซับซ้อนมากขึ้นสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ตามคำสั่งของบริษัทเหล่านี้
TSMC ตั้งเป้าหมายรีไซเคิลน้ำให้ได้ถึง 90% เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ แต่นายจอช เลพาว์สกี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ทรัพยากรและของเสียในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เกรงว่า กว่าโรงงานของ TSMC จะเริ่มการผลิตได้ เมื่อถึงตอนนั้นสภาพน้ำในเมืองฟีนิกซ์อาจแย่กว่านี้ไปตามลำดับเวลาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน อีกทั้งการสร้างโรงงานขึ้นมาย่อมคาดหวังว่าจะใช้งานได้นาน 10-30 ปี แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลไปแล้ว แถมได้เงินอุดหนุน TSMC จึงจำต้องกลืนยาขมยอมรับความจริงว่า ไม่อาจย้ายไปสร้างโรงงานในสถานที่เขียวชอุ่มกว่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม ทางด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยืนยันว่า เนื่องจากภูมิภาคแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางชั้นนำของชิป เมืองฟีนิกซ์ย่อมมีน้ำเพียงพอสำหรับ TSMC หรือแม้แต่บริษัทอื่นๆ ที่ต่อไปอาจมาตั้งโรงงานที่นี่
ซินเทีย แคมป์เบลล์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของเมืองฟีนิกซ์ระบุว่า การนำน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่มีอยู่จำกัดมาใช้กับโรงงาน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง
นายแดนนี ไซเดน ซีอีโอหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐแอริโซนา เขียนบทความเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2566 ว่า การสงวนรักษาและการเพิ่มประสิทธิภาพน้ำจะทำให้รัฐแห่งนี้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำได้ เขายกตัวอย่างโรงงานผลิตในเมืองแชนด์เลอร์ รัฐแอริโซนาของอินเทล บริษัทคู่แข่ง TSMC โรงงานแห่งนี้มีการบำบัดน้ำมากกว่า 9 ล้านแกลลอนต่อวัน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันจันทร์ (8 เม.ย.) ให้เงินอุดหนุนและเงินกู้ต้นทุนต่ำรวมทั้งสิ้น 11,600 ล้านดอลลาร์แก่ TSMC เพื่อเพิ่มการผลิตเทคโนโลยีสำคัญ โดย TSMC ตกลงขยายการลงทุนในสหรัฐฯ อีก 25,000 ล้านดอลลาร์เป็น 65,000 ล้านดอลลาร์ โรงงาน 2 แห่งแรกยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าการผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตรจะเริ่มขึ้นได้ในปี 2571 ส่วนโรงงานแห่งที่ 3 จะสร้างภายในปี 2573 เงินอุดหนุนที่ได้รับนี้อยู่ในกองทุนกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) ช่วยสนับสนุนการวิจัยและผลิตชิปบนแผ่นดินอเมริกา เพื่อนำห่วงโซ่อุปทานชิปกลับคืนสู่สหรัฐฯ ในท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีกับจีน
อ้างอิงข้อมูลจาก “Water-guzzling chipmaker TSMC and drought-plagued Arizona are an unlikely pair, but officials say Phoenix’s water supply can handle booming production” ใน Fortune.com