xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : กลโกง “ร้านทองจีน” ปิดตัวหนี ประชาชนกำ “ทองคำทิพย์” ชีช้ำระนาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร้าน ‘China Gold’ ร้านทองที่ทรงความน่าเชื่อถือมากสุดแบรนด์หนึ่งในจีน มีสาขาร้านค้า 3,000 กว่าแห่งทั่วประเทศจีน (ภาพจากสื่อจีน)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

จากปรากฏการณ์ราคาทองคำโลกทำสถิติพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง เป็นประเด็นฮือฮาในหลายประเทศ ในจีนเองก็เช่นกัน ผู้เขียนเคยเขียนบทความถึงการนิยมซื้อทองคำของชาวจีนที่มีจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง และคนส่วนใหญ่มีแนวคิดซื้อตามราคาที่กำลังขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “买涨不买跌” อ่านว่า หม่ายจ่างปู้หม่ายเดีย หมายถึง “ซื้อเข้าตอนขาขึ้น ขาลงไม่เข้าซื้อ” ทำให้ปัจจุบันถึงแม้ว่าราคาทองคำพื้นฐานในประเทศจีนจะมากกว่า 530 หยวนต่อกรัม (ประมาณ 2,650 บาทต่อกรัม) ส่วนราคาทองรูปพรรณบางร้านสูงถึง 700 หยวนต่อกรัม (ประมาณ 3,500 บาทต่อกรัม) แล้ว แต่ความต้องการซื้อทองเก็บไว้ของคนจีนก็ยังไม่แผ่ว

ในจีนตั้งราคาซื้อขายทองในตลาดผู้บริโภคทั่วไป โดยคิดราคาทองต่อหน่วย “กรัม” ต่างกับไทยที่ตั้งราคาซื้อขายต่อหน่วย “บาท” ซึ่ง 1 บาท เท่ากับ 15.16-15.244 กรัม อีกทั้งมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองที่ซื้อขายในประเทศก็ต่างกัน จีนใช้มาตรฐานทองโลก 99.99% ส่วนไทยใช้มาตรฐาน 96.5%

ผู้เขียนมีเพื่อนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของร้านแบรนด์เนมมือสองในปักกิ่ง ช่วง 2-3 ปีมานี้บริษัทมีการเพิ่มสินค้าประเภททองรูปพรรณ หินและหยกต่างๆ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ยอดขายทองรูปพรรณพุ่งแรงแซงสินค้าประเภทอื่นๆ เพราะราคาทองที่พุ่งขึ้นสูง และคนก็สนใจซื้อทองเก็บไว้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเพื่อนของผู้เขียนท่านนี้บอกกับผู้เขียนว่า ปัจจุบันยอดขายของเธอทั้งเดือน 80-85% มาจากการขายทองรูปพรรณ ซึ่งแต่ก่อนสัดส่วนยอดขายทองรูปพรรณไม่มากขนาดนี้ จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่ธนาคารกลางจีนจะกักตุนทองคำเท่านั้น ในภาคประชาชนเองก็แห่มาเก็บทองคำกันอย่างคึกคัก

ในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา ในจีนมีข่าวร้านทองหลายแบรนด์หลายร้าน จู่ๆ ก็ปิดตัวหายเข้ากลีบเมฆไป ทำให้ลูกค้าที่มีการฝากทองเอาไว้ที่ร้านทองไม่สามารถไปขอถอนทองแท่งออกมาได้และไม่รู้ว่าจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากใคร เฉพาะแค่ในปักกิ่งมีการประเมินมูลค่าความเสียหายของประชาชนในครั้งนี้มีมูลค่าหลายร้อยล้านหยวน

ร้านทองที่ปิดตัวกะทันหันและกลายเป็นข่าวดังมาก คือ ร้านทองแบรนด์ China Gold (中国黄金) ที่มีบริษัทแม่เป็นของรัฐ โดยหนึ่งในสาขาที่เกิดเรื่องตั้งอยู่ในเขตเฉาหยาง กรุงปักกิ่ง เป็นสาขาที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2009 ขนาดพื้นที่ของร้านใหญ่ 2 ชั้น รวมกันใหญ่กว่า 3,000 ตารางเมตร และร้านนี้เป็นร้านทอง China Gold ที่ใหญ่ที่สุดในปักกิ่งด้วย เพราะความน่าเชื่อถือของแบรนด์ China Gold และขนาดร้านที่มีขนาดใหญ่เปิดมานาน จึงมีลูกค้าประจำจำนวนมาก

ร้าน China Gold ในเขตเฉาหยัง กรุงปักกิ่ง ปิดตัวหนี  ผู้บริโภคจำนวนมาก “ซื้อทองแบบฝากทองไว้กับร้านเพื่อกินดอกเบี้ยทอง” ต่างกำ “ทองทิพย์” โดยไม่รู้เลยว่าจะได้ “ทองแท้” กลับมาได้อย่างไร  (ภาพจากสื่อจีน)
ทั้งนี้ ร้านทองในจีนหลายร้านนอกจากมีขายทองคำแท่งทองรูปพรรณแล้ว ยังมีการซื้อขายแบบ “ฝากทอง” ด้วย กล่าวคือลูกค้าจ่ายเงินซื้อทองแล้วฝากทองไว้กับร้าน โดยทางร้านและลูกค้าจะมีการเซ็นสัญญาฝากทองรายปี เมื่อฝากครบเวลาตามสัญญา ลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยเป็นทองจากร้านค้าโดยจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากปริมาณทองที่ลูกค้าฝาก ลูกค้าจะถือแค่ใบฝากทองเพียงใบเดียวเท่านั้น

ร้าน China Gold ในปักกิ่งที่ตกเป็นข่าวดังนี้ปิดร้านมาตั้งแต่ปลาย ธ.ค.ปีที่แล้ว พนักงานขายของร้านก็หายสาบสูญ ที่สำคัญคือลูกค้าประจำหลายรายที่ฝากทองเอาไว้กับร้านไม่สามารถจะถอนทองคำออกมาได้เลย

ผู้เสียหายรายหนึ่งแชร์ประสบการณ์ว่า “บริการฝากทองของ China Gold หากฝากเอาไว้ครบหนึ่งปีจะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 2.5% ตามปริมาณทองที่ฝากไว้ โดยดอกเบี้ยจะให้เป็นรูปแบบทองคำแท่ง และเมื่อหมดสัญญาสามารถเซ็นสัญญาต่อได้ หรือไม่ก็ขอถอนทองได้ หรือไม่ก็สามารถขายทองโดยอิงราคาทอง ณ วันที่ขาย”

ผู้เสียหายอีกราย นางโจว ได้ฝากทองไว้กับร้าน China Gold ตั้งแต่ปี 2015 โดยมีการต่อสัญญามาตลอด เพราะด้วยความเชื่อถือในแบรนด์และร้านค้า โดยทองที่ฝากเอาไว้ทุก 400 กรัม ในแต่ละปีจะได้ทองคำแท่งเล็กหนัก 10 กรัม นางโจวเลยไม่ได้ถอนทองออกมาและต่อสัญญาไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันร้านปิดตัวแล้วไม่รู้ว่าจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ที่ไหน”

กลุ่มผู้เสียหายของ China Gold ในสาขาใหญ่ในปักกิ่งนี้มีเป็นหลักร้อยราย ยังไม่รวมกับสาขาอื่นๆ ที่มีผลกระทบลักษณะเดียวกัน

ไม่ใช่แค่ร้าน China Gold หลายสาขาเท่านั้นที่ปิดกะทันหัน ร้านทอง Shandong Gold ในปักกิ่งก็ปิดตัวไปเช่นกัน มีผู้เสียหายรายหนึ่งแม่ของเธอฝากทองกับ Shandong Gold ตั้งแต่ปี 2019 และต่อสัญญาทุกปี และแม่ของเธอยังไปถอนทองแท่งจากธนาคาร China Construction Bank(CCB) ออกมาจำนวน 1,000 กรัม และนำมาฝากเอาไว้ที่ Shandong Gold เพราะอยากจะได้ดอกเบี้ยเป็นทองคำแท่งเล็ก ปรากฏว่าร้านทอง Shandong Gold ปิดตัวกะทันหัน ทองที่ฝากเอาไว้ไม่รู้จะไปตามได้ที่ไหนและมูลค่าความเสียหายของแม่เธอมากกว่า 9 แสนหยวน หรือประมาณ 4.5 ล้านบาทเลยทีเดียว ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าช่วงเดือน ส.ค. แม่ของเธอเคยลงทะเบียนขอถอนทองกับ Shandong Gold แต่พนักงานและผู้จัดการร้านอ้างต่างๆ นานายืดเวลามาตลอดจนติดต่อกันทางแอปแชตไม่ได้อีกเลย

ข่าวร้อนในจีนชิ้นหนึ่งระบุว่า “ร้านสาขา China Gold แห่งหนึ่งปิดตัวหนี” ทองของลูกค้ารวม 60 กิโลกรัม ก็สูญหายไป!
กลโกงกลลวงที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจาก “ร้านที่เข้าร่วมแฟรนไชส์ ไม่ใช่ร้านที่เปิดโดยบริษัทแม่โดยตรง” จากการรายงานของสถานีโทรทัศน์กลางแห่งจีน (CCTV) ระบุว่าร้าน China Gold ที่มีอยู่ 3,600 กว่าร้านทั่วประเทศ มีเพียง 105 ร้านเท่านั้นที่เปิดดำเนินงานโดยบริษัทแม่ เท่ากับว่าร้าน China Gold ในจีน 90% เป็นร้านแฟรนไชส์ที่บริหารงานโดยนิติบุคคลหลากหลาย

นายทัง ลูกค้าของ China Gold ปักกิ่งที่ได้รับความเสียหาย ได้ติดต่อกับสำนักงานใหญ่ China Gold หลายครั้ง และฝ่ายกฎหมายของบริษัท China Gold บอกเขาว่าร้านค้าที่ปิดตัวเป็นร้านสาขาที่เข้าร่วมแฟรนไชส์ ในสัญญาการร่วมมือทางธุรกิจบริษัทแม่ไม่อนุญาตให้ร้านแฟรนไชส์ให้บริการรับฝากทองแก่ลูกค้า ดังนั้น ในทางกฎหมายไม่มีมูลเหตุใดๆ ที่บริษัทแม่ได้กระทำผิดกับผู้บริโภคโดยตรง ทางบริษัทแม่จึงไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายของลูกค้าจากสาขาแฟรนไชส์

ร้าน China Gold ปักกิ่ง ร้านใหญ่ที่เกิดปัญหา เมื่อมีคนไปขุดคุ้ยข้อมูลพบว่าร้านนี้ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. และก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่ร่วมแฟรนไชส์กับ China Gold ได้ขายหุ้นของตัวเองออกไป 70% และออกจากการเป็นประธานกรรมการบริษัท ดังนั้น ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย 30% กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทจาก 10 ล้านหยวนลดลงเหลือเพียง 3 ล้านหยวนเท่านั้น เท่ากับว่าเจ้าของที่ร่วมแฟรนไชส์กับ China Gold ได้เอาเงินของลูกค้าทั้งหมดที่ซื้อฝากทองเอาไว้ถอนออกหมดและหายตัวไป

ในเดือน มี.ค.2023 ผู้บริโภค China Gold ที่หางโจวก็เคยเกิดปัญหาลักษณะเดียวกัน คือร้านทองปิดตัวกะทันหัน และทองคำของลูกค้าไม่สามารถไปถอนออกมาได้ เมื่อถามไปถึงบริษัทแม่ก็ได้คำตอบเหมือนกันว่า ร้านที่เกิดปัญหาคือร้านสาขาตัวแทน ทางสำนักงานใหญ่ไม่สามารถช่วยรับผิดชอบใดๆ ได้

ร้านค้าทองแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหา แท้จริงแล้วมีทองคำสต๊อกในร้านค้าน้อยมากๆ และหลายร้านประสบปัญหาทางการเงินมานาน ดังนั้น บริการฝากทองเหมือนเป็นแค่การหลอกเงินผู้บริโภคเพื่อระดมทุนเท่านั้น โดยให้ผลประโยชน์ดึงดูดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัจจุบันธุรกรรมการรับฝากทองของร้านทองมีอยู่ทั่วไปในจีน ผู้บริโภคจึงต้องศึกษาและดูดีๆ ว่าร้านที่ตัวเองไปฝากทองเชื่อถือได้หรือไม่

ในประเด็นดรามาของ China Gold ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ก็ออกมากล่าวว่า “ให้ความสำคัญกับปัญหานี้และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อที่จะประสานงานแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด” ผู้บริโภคที่เสียหายได้แต่รอว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้บริโภคชาวไทยได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันร้านทองหลายร้านในไทยมีบริการฝากทองเช่นกัน ในภาวะทองแพงนี้คงต้องเลือกร้านทองที่มั่นคงและเชื่อถือได้จริงๆ เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น