ทีมวิจัยระหว่างประเทศได้ปฏิวัติระบบการจำแนกหมวดหมู่นกและปรับเปลี่ยนความเข้าใจที่มนุษย์มีต่อประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของนก ซึ่งแม้จะมีความพยายามอย่างมากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทว่าความสัมพันธ์ในหมู่สัตว์ปีกส่วนใหญ่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
คณะนักวิจัยที่นำโดยกลุ่มนักสัตววิทยาของจีน จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงได้วิเคราะห์จีโนม หรือข้อมูลทางพันธุกรรมของนก 363 สายพันธุ์ ในวงศ์นกที่มีชีวิตอยู่ร้อยละ 92 และนำเสนอแผนภูมิต้นไม้เกี่ยวกับวิวัฒนาการใหม่ที่มีข้อมูลรับรองอย่างดี
การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ระบุว่า กลุ่มนีโออาเวส (Neoaves) หรือกลุ่มนกสมัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วยสายพันธุ์นกส่วนใหญ่ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มมิรันดอร์นิธีส (Mirandornithes) เช่น นกฟลามิงโก กลุ่มโคลัมบาเวส (Columbaves) เช่น นกพิราบ กลุ่มเทลลูราเวส (Telluraves) ซึ่งประกอบด้วยนกแก้วและนกอินทรี และกลุ่มเอเลเมนทาเวส (Elementaves)
กลุ่มเอเลเมนทาเวสเป็นกลุ่มที่มีการเสนอตั้งขึ้นมาใหม่ล่าสุด ประกอบด้วยนกสมัยใหม่ทั้งหมดประมาณร้อยละ 14 ซึ่งรวมถึงนกนางนวล นกอัลบาทรอส เพนกวิน นกวัตซิน และนกแอ่น
คณะวิจัยยืนยันว่าเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้คร่าประชากรไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่สัตว์ปีกทั้งหมดเมื่อราว 66 ล้านปีก่อน และเป็นโอกาสให้นกกระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วและครองบทบาทหน้าที่ทางระบบนิเวศอย่างกว้างขวาง
จางกั๋วเจี้ยน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้เปลี่ยนมุมมองแบบดั้งเดิมจำนวนมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของนก โดยชี้ว่าแผนภูมิต้นไม้ลำดับวงศ์แบบใหม่นี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่สนับสนุนการทำแผนผังประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของนกทุกชนิด และมีความสำคัญสำหรับการวิจัยทางปักษีวิทยาและการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ
อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่ชื่อว่า “โครงการนก 10,000 จีโนม” (Bird 10,000 Genomes) เพื่อทำแผนผังจีโนมของนกที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 10,500 สายพันธุ์
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว