xs
xsm
sm
md
lg

New China insights : จีนกับปัญหาอาหารปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เนื้อแพะปลอม” ที่ถูกทำจากเนื้อเป็ดผสมกับเนื้อหลายชนิดที่ต้นทุนถูกๆ และน้ำมันแพะ ร้านหม้อไฟบางแห่งในจีนนำไปใช้เพื่อลดต้นทุน ในร้านยังมี “เนื้อเลียนแบบเนื้อวัว” (ภาพจากสื่อจีน)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะเล่าประเด็น “ความปลอดภัยด้านอาหาร” ในจีน ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่เพราะเกี่ยวกับอาหารการกินสินค้าบริโภค ในจีนมีข่าวปัญหาความปลอดภัยของอาหารอยู่บ่อยๆ โดยก่อนหน้ามีข่าวดังกรณีตำรวจบุกจับกุมโรงงานทำเนื้อแพะปลอม (เอาเนื้ออะไรไม่ทราบมาผสมกันหลากหลาย ย้อมสีแต่งกลิ่นให้เหมือนเนื้อแพะที่สุด) และอีกกรณีที่เป็นข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการนำเนื้อแมวมาย้อมสีแต่งกลิ่นเป็นเนื้อแพะ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เสียบไม้บาร์บีคิวส่งขายให้ร้านอาหารต่างๆ และร้านอาหารเอาไปปิ้งขายให้ลูกค้าต่อ! ข่าวเปิดโปงความสกปรกชวนคลื่นไส้ของครัวในร้านอาหารดังบางแห่ง เป็นต้น

ทุกวันที่ 15 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคนานาชาติ (World Consumer Rights Day) ซึ่งจีนให้ความสำคัญกับวันคุ้มครองผู้บริโภคสากลเช่นกันโดยยกเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคของจีนด้วย ในวันนี้จะมีการเปิดโปงเรื่องปัญหาสินค้าและบริการประเภทต่างๆ ด้านของอาหารปลอดภัย

ในปีนี้มีการเปิดโปงอาหารสำเร็จรูปยอดนิยม คือ เมนู ‘หมูสามชั้นนึ่งกับผักกาดดองสับ’ (梅菜扣肉” อ่านว่า เหม่ยไช่โค่วโร่ว) เป็นเมนูขึ้นชื่อของเมืองฟู่หยาง มณฑลอันฮุย ในเมืองฟู่หยาง มีการตั้งโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป ‘หมูสามชั้นนึ่งกับผักกาดดองสับ’ หลายสิบแห่ง โดยเมนูนี้ได้รับการร้องเรียนว่าบางโรงงานใช้เนื้อหมูไม่ได้คุณภาพ โดยใช้เนื้อจากบริเวณส่วนคอหมูเชื่อมกับลำตัวซึ่งโดยปกติเนื้อส่วนนี้จะตัดทิ้ง ไม่นำมารับประทานเพราะเป็นเนื้อส่วนที่มีต่อมน้ำเหลืองและต่อมไทรอยด์อยู่ ดังนั้นจึงเป็นส่วนที่ไม่สะอาดและอาจจะมีเชื้อโรคจำนวนมากปนเปื้อนอยู่

โดยหลังจากที่มีการร้องเรียน ผู้สื่อข่าวจีนได้ปลอมตัวเป็นฝ่ายจัดซื้อของบริษัทหนึ่ง เดินทางไปสำรวจโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ถูกร้องเรียนในมณฑลอันฮุย ผลปรากฏว่ามีการใช้เนื้อหมูที่ไม่ได้มาตรฐานมาผลิตจริง โดย ‘เนื้อหมูส่วนที่มีต่อมน้ำเหลือง’ นี้มีต้นทุนเพียงกิโลกรัมละ 30 บาทเท่านั้น ในขณะที่เนื้อหมูสามชั้นที่มีมาตรฐานปกติต้นทุนกิโลกรัมละ 120 บาท!

พ่อค้าคนกลางหลายรายเปิดเผยกับนักข่าวว่า ในเมืองฟู่หยางนี้ มีการใช้เนื้อหมูคุณภาพต่ำแปรรูปแทนหมูสามชั้นมานานแล้ว หลังจากได้เบาะแสจากคนในพื้นที่ นักข่าวที่ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้อ มาที่โรงงาน Spring Food ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจหยิงโจว เมืองฟู่หยาง ภายในโรงงานนี้มีการกั้นห้องที่รัดกุม เมื่อขึ้นไปชั้นสองมีสติกเกอร์ติดบนกระจกซึ่งป้องกันการมองเห็นสายการผลิตด้านใน

เมนูเจ้าปัญหา “หมูสามชั้นกับผักกาดดองสับ” สำเร็จรูป (ภาพจากโซเชียลจีน เวยปั๋ว)
นักข่าวได้ติดต่อผู้จัดการเพื่อขอดูสายการผลิตด้านในแต่ผู้จัดการโรงงานค่อนข้างระมัดระวังและปฏิเสธนักข่าวในตอนแรก แต่จากความพยายามของนักข่าวทำให้สุดท้ายผู้จัดการโรงงานไว้ใจและยอมให้เข้าไปดูในสายการผลิต ผลปรากฏว่านักข่าวพบเนื้อหมูส่วนต้องห้ามจำนวนมาก และพนักงานโรงงานกำลังแล่เอาส่วนต่อมน้ำเหลืองและต่อมไทรอยด์ที่ติดอยู่ออก ตัดแต่งให้เหมือนกับหมูสามชั้นบางๆ

อีกโรงงานแห่งหนึ่งที่นักข่าวจีนเข้าไปสำรวจคือ Anhui Donghui Food พบว่าภายในโรงงานมีเนื้อแช่แข็งจำนวนมาก บนถุงระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นเนื้อส่วนที่มีต่อมน้ำเหลือง เจ้าหน้าที่โรงงานนี้บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าเนื้อส่วนนี้เป็นวัตถุดิบหลักที่ถูกนำมาใช้ผลิตเมนูหมูสามชั้นนึ่งผักกาดดองสับ

ที่สายผลิตของบริษัท Anhui Donghui Food นักข่าวเห็นคนงานหลายคนกำลังยุ่งกับการแล่ต่อมน้ำเหลืองและต่อมไทรอยด์ในเนื้อหมู ผู้จัดการโรงงานนี้บอกกับนักข่าวว่าอาจจะมีการแล่ไม่สะอาดนักคืออาจจะมีต่อมน้ำเหลืองติดอยู่บ้างแต่หลังจากปรุงสุกแล้วรสชาติก็ไม่ได้ต่างจากหมูธรรมดาเลย อีกทั้งนักข่าวยังเห็นการจัดเก็บหมูแช่แข็งของโรงงานนี้ถูกจัดวางอยู่ในลานโล่งนอกโรงงาน หมูแช่แข็งบางก้อนถูกเอามาวางไว้บนพื้นโดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น!

เล่ามาถึงตอนนี้ผู้เขียนมีความสะอิดสะเอียนยอมรับว่าเมนูดังกล่าวก่อนหน้าผู้เขียนเคยซื้อจากซูเปอร์มาร์เกตแผนกอาหารแช่แข็งเอามาอุ่นกินกับข้าวอยู่บ่อยครั้ง หลังจากนี้คงบอกลาเมนูนี้อย่างถาวร และหลังจากข่าวนี้ออกไปสร้างความฮือฮาน่าขยะแขยงให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อยเพราะถือเป็นเมนูยอดฮิตที่หลายคนซื้อไว้ติดตู้เย็นที่บ้าน

จีนมีคำพูดที่ว่า “สำหรับมนุษย์อาหารการกินสำคัญที่สุด และความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องอันดับหนึ่ง” เพราะฉะนั้นหากว่าอาหารมีปัญหา การดำรงชีวิตของประชาชนก็จะเป็นปัญหาไปด้วย

มีข้อมูลหนึ่งรายงานโดยสมาคมผู้บริโภคแห่งชาติจีน จากสถิติในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 แสดงให้เห็นว่าการร้องเรียนของผู้บริโภคที่เข้ามาทั้งหมด ประเด็นเรื่องอาหารมีมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีการร้องเรียนมากกว่า 39,000 เคสทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 5.45% ข้อร้องเรียนที่พบมาก เช่น อาหารเน่าเสียหรือพบสิ่งแปลกปลอมในอาหาร การขายอาหารหมดอายุ อาหารธรรมดาที่แอบอ้างเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และที่น่าจับตาคือจำนวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสั่งซื้ออาหารหรือซื้อของกินเล่นผ่านช่องทางออนไลน์พบปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

มีชาวเน็ตจีนแซะเรื่องอาหารปลอดภัยในชีวิตประจำวันของชาวจีนเชิงเสียดสีว่า “ตอนเช้าดื่มน้ำเต้าหู้สำเร็จรูปกับเนื้อหมูบดผสม (ไม่รู้เนื้อส่วนไหนบ้าง) ประกบกับขนมปัง ตอนกลางวันกินเมนูไก่ผัดซอสที่ไม่รู้ว่าเนื้อไก่ถูกแช่แข็งมานานแค่ไหนแล้ว ตอนเย็นกินชานมไข่มุกที่อุดมไปด้วยครีมเทียมและก๋วยเตี๋ยวสำเร็จรูปอุ่นในไมโครเวฟ ชีวิตคนเราก็แบบนี้แหละ…..”

หลังจากวันคุ้มครองผู้บริโภคผ่านไป มีเคสการเปิดโปงเรื่องอาหารไม่ปลอดภัยจำนวนมาก จนเรื่องอาหารไม่ปลอดภัยขึ้นเป็นประเด็นฮอตในข่าวโซเชึยลจีนมากกว่า 80 ครั้ง

ขนมไหว้พระจันทร์มีเชื้อรา ผู้บริโภคจีนโพสต์บนโซเชียล (ภาพจากโซเชียลจีน เสี่ยวหงชู)
ในประเด็นที่ใช้เนื้อหมูไม่ได้คุณภาพนำมาผลิตอาหารสำเร็จรูป ทำให้หน่วยงานควบคุมสินค้าในตลาดแห่งชาติจีนประกาศ “การปราบปรามผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผิดกฎหมายและไม่ได้มาตรฐานอย่างเคร่งครัดทั้งห่วงโซ่” เพื่อสร้างความมั่นใจต่อความปลอดภัยของอาหารแก่ประชาชน

แม้ว่ารัฐบาลจีนมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหารแต่ยังมีความท้าทายอยู่หลายประการ เช่น ปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การปนเปื้อนของพืชผลและผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้การใช้ยาฆ่าแมลงและยารักษาสัตว์ในปริมาณที่มากเกินไปในพื้นที่ก่อให้เกิดสารตกค้าง มีปัญหาในกระบวนการแปรรูปอาหาร ที่บางบริษัทมีปัญหาสุขอนามัยที่ไม่ดี การใช้สารเติมแต่งที่ผิดกฎหมาย และปัญหาในการกระจายสินค้า เนื่องจากการกำกับดูแลที่ยังไม่ทั่วถึง อาจจะมีอาหารหมดอายุเอาออกมาแพกใหม่ มีผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ และสินค้าอาหารคุณภาพต่ำที่ขายกันเกลื่อนบนออนไลน์

ระบบกฎหมายที่ยังอ่อนแอ แม้ว่าจีนจะประกาศใช้กฎหมายและข้อบังคับด้านความปลอดภัยของอาหารจำนวนมาก แต่ยังคงมีช่องโหว่ในทางปฏิบัติ ขณะเดียวกันบทลงโทษสำหรับโรงงานหรือร้านอาหารที่ทำผิดกฎหมายยังไม่รุนแรงพอ ทำให้บางบริษัทไม่ได้สนใจกับเรื่องการถูกดำเนินคดีมากนักเพราะเสียแค่ค่าปรับนิดหน่อยก็กลับมาผลิตใหม่ได้

มีผู้เชี่ยวชาญออกมาแนะนำถึงแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งปรับปรุงกฎหมายให้มีความรุนแรง หน่วยงานรัฐในท้องที่ต่างๆ เพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแล ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการเลือกบริโภค เช่น การเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปที่ถูกเกินไปต้องระแวดระวัง เสริมสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการและเพิ่มระดับของเทคโนโลยีด้านการผลิตอาหารเพื่อยกระดับด้านความปลอดภัย เป็นต้น

ผู้เขียนมองว่าจีนยังมีปัญหาเรื่องอาหารปลอดภัยและสิ่งของบริโภคที่ไม่ได้มาตรฐานอีกมาก โดยเฉพาะออนไลน์ อาหารสำเร็จรูปและของขบเคี้ยว แม้แต่วัตถุดิบเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหาร หลายรายการราคาถูกมากๆ จนน่าใจหายและทุกรายการที่ขายกันถูกๆ เป็นยี่ห้อที่ไม่คุ้นเคย ในร้านอาหารในปักกิ่งผู้เขียนเคยเจอแมลงสาบอยู่ในซุปเมื่อแจ้งกับเจ้าของร้าน เจ้าของร้านก็ทำหน้าตาปกติไม่ได้ขอโทษและยกซุปที่มีแมลงสาบออกไปและทำซุปถ้วยใหม่มาให้ เคยเจอเส้นผมบนอาหารหลายครั้ง เพื่อนจีนบางคนไม่ได้แจ้งกับร้านอาหาร แต่เลือกที่จะคีบออกและทานต่อ……

สุดท้ายแล้วผู้บริโภคไม่ว่าประเทศใดก็ต้องปกป้องสิทธิพื้นฐานของตนเอง เรื่องของอาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ หากว่าอาหารไม่ปลอดภัยก็กระทบกับสุขภาพ ไทยเราในขณะนี้ฮิตอาหารหมาล่าจากจีน ผู้เขียนค่อนข้างกังวลเหมือนกันว่าอาหารและวัตถุดิบที่นำเข้าจากจีนไปปรุงขายให้คนไทยมีมาตรฐานและความปลอดภัยแค่ไหน ทั้งนี้อาจจะต้องกระตุ้นให้ผู้บริโภคไทยช่วยกันเป็นหูเป็นตากันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น