สถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เผยว่ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติค้นพบซากฟอสซิลลำตัวพยาธิตัวตืดในอำพันเมียนมาจากช่วงกลางยุคครีเทเชียส ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปราว 100 ล้านปี
ซากฟอสซิลข้างต้นมีโครงสร้างเป็นเอกลักษณ์ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งคล้ายคลึงกับหนวดจับของพยาธิตัวตืดทริพานอร์ฮินช์ (trypanorhynch) ปรสิตที่อาศัยอยู่ในกลุ่มปลาทะเลกระดูกอ่อนที่ส่วนใหญ่เป็นฉลามและกระเบน และยังคงมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบัน
เชสโตดา (Cestoda) หรือพยาธิตัวตืด เป็นกลุ่มพยาธิตัวแบนที่ดำรงชีวิตแบบปรสิตภายในร่างกายของโฮสต์ มีวงจรชีวิตที่ซับซ้อนเนื่องจากต้องอาศัยในโฮสต์แตกต่างกันอย่างน้อยสองโฮสต์ และสามารถแพร่สู่กลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังที่สำคัญทั้งหมด โดยบันทึกซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีอยู่น้อยมากเนื่องจากมันมีเนื้อเยื่ออ่อน และถิ่นอาศัยที่ซุกซ่อนตัวอยู่
หวังโป๋ นักวิจัยของสถาบันฯ เผยว่าซากฟอสซิลดังกล่าวไม่เพียงเป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับซากฟอสซิลลำตัวบางส่วนของพยาธิตัวตืด แต่ยังเป็นซากฟอสซิลลำตัวของพยาธิตัวแบนที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในโลกปัจจุบัน ซึ่งส่งมอบหลักฐานโดยตรงเกี่ยวกับวิวัฒนาการในช่วงแรกของพวกมัน
หลัวฉือหาง นักศึกษาดุษฎีบัณฑิตของสถาบันฯ กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าอำพันสามารถรักษาโครงสร้างภายในของหนอนพยาธิเอาไว้ได้ และนำไปสู่การตั้งสมมติฐานว่าพยาธิตัวตืดขึ้นมาจากมหาสมุทรและอยู่ในอำพันได้อย่างไร
หลัวเผยข้อสันนิษฐานว่าพยาธิดังกล่าวอาจอาศัยอยู่ในลำไส้ของกระเบน ต่อมากระเบนถูกซัดขึ้นฝั่งและกลายเป็นอาหารของไดโนเสาร์ จากนั้นไดโนเสาร์ได้กัดกินอวัยวะภายในของกระเบน จึงทำให้พยาธิร่วงหล่นออกมาและถูกยางไม้ที่อยู่ใกล้เคียงห่อหุ้มเอาไว้
อนึ่ง การศึกษาข้างต้นซึ่งจัดทำโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศ อาทิ จีน เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเมียนมา ได้รับการเผยแพร่ลงในวารสารจีโอโลจี (Geology) เมื่อไม่นานนี้
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว