จีนเริ่มการอัปเกรดแหล่งกำเนิดนิวตรอนแบบสปอลเลชัน (spallation neutron source – CSNS) อันเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นกล้องจุลทรรศน์ “ซูเปอร์ไมโครสโคป” สำหรับตรวจสอบโครงสร้างวัสดุขนาดเล็ก เพื่อช่วยส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เปิดตัวแล้วในวันเสาร์ (30 มี.ค.) ที่นครตงก่วน มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน สำหรับโครงการก่อสร้างเครื่องผลิตนิวตรอนสปอลเลชันระยะที่ 2 ของจีน ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยแห่งแรกของประเทศที่ผลิตลำพัลส์นิวตรอน (pulsed neutron beams) ที่มีความเข้มข้นมากที่สุดสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
หวังเซิง รองผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (IHEP) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และผู้อำนวยการใหญ่ของโครงการฯ ระบุว่าการก่อสร้างแหล่งผลิตนิวตรอนสปอลเลชันระยะที่ 2 จะใช้เวลา 5 ปี 9 เดือน ประกอบด้วยการสร้างเครื่องมือนิวตรอน เครื่องปลายทางสำหรับการทดลอง (experimental terminals) และห้องปฏิบัติการใหม่รวม 11 รายการ และคาดว่าพลังงานของอนุภาคโปรตอนของเครื่องกำเนิด ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพที่สำคัญนั้น จะเพิ่มขึ้นจาก 100 กิโลวัตต์เป็น 500 กิโลวัตต์
หวังระบุว่า หลังเสร็จสิ้นการก่อสร้างระยะที่ 2 แหล่งผลิตแห่งนี้จะสามารถสร้างนิวตรอนได้เพิ่มขึ้นในเวลาที่เท่ากัน ซึ่งจะย่นระยะเวลาทดลองให้สั้นลง ตลอดจนเพิ่มความละเอียดในการทดลอง ทำให้สามารถตรวจสอบอย่างที่มีขนาดเล็กลงได้ รวมถึงการศึกษากระบวนการพลศาสตร์ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และคาดว่าจำนวนการทดลองที่มีประโยชน์ต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว