xs
xsm
sm
md
lg

ศึกรถอีวีสหรัฐฯ-จีน มะกันเหลี่ยมจัด มังกรยื่นฟ้อง WTO แต่เรื่องอาจไปไม่ถึงไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงพาณิชย์จีน - ภาพ : VCG
กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดหน้าชนการตั้งด่านสกัดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แดนมังกรของประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อวันอังคารที่ 26 มี.ค. ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเลือกให้เงินอุดหนุนแก่รถอีวีที่ขายในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม
 
ตามกฎระเบียบใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. นั้น ระบุว่า ผู้ซื้อรถอีวีจะไม่มีสิทธิขอลดหย่อนภาษี 3,750-7,500 ดอลลาร์ (ราว 135,000-270,000 บาท) ในกรณีรถที่ซื้อนั้นมีการใช้แร่ธาตุสำคัญหรือส่วนประกอบแบตเตอรีอื่นๆ ผลิตโดยบริษัทของจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ หรืออิหร่าน

 
กฎระเบียบนี้อยู่ในกฎหมายด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสหรัฐฯ ใช้ชื่อว่า กฎหมายการปรับลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ประธานาธิบดีไบเดนลงนามรับรองในปี 2565 โดยจากผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ราคาอาหารและอัตราเงินเฟ้อโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


แต่จีนกระชากหน้ากากสหรัฐฯ ว่า กำหนดนโยบายให้เงินอุดหนุนอย่างเลือกปฏิบัติ โดยอ้างกระทำในนามของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นี่คือการกีดกันสินค้าจีน บิดเบือนการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมของรถยนต์พลังงานใหม่ในทั่วโลกอย่างรุนแรง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า การกระทำของสหรัฐฯ ได้ละเมิดกฎของดับเบิลยูทีโอ

การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของการส่งออกรถอีวีกำลังเป็นปัญหาท้าทายอุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิมในสหรัฐฯ โดยในส่วนของจีนนั้นได้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับรถอีวี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถผลิตรถอีวีในราคาที่ถูกกว่า


หลังจากสหรัฐฯ บังคับใช้กฎระเบียบใหม่ ปรากฏว่า มีรถอีวีเพียง 13 คันจากกว่า 50 คันที่ขายในประเทศปีนี้มีสิทธิลดหย่อนภาษี ลดลงจากเมื่อปี 2566 ที่มีรถอีวีประมาณ 24 รุ่นผ่านการรับรอง ค่ายรถยนต์จึงแย่งชิงกันอุตลุดเพื่อให้ได้ชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตที่จะทำให้รถของตนมีสิทธิได้ลดหย่อนภาษี

 

โรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ของบริษัท Ultium Cell ในเมืองวอร์เรน รัฐโอไฮโอ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2566 - ภาพ : เอพี
ทั้งนี้ ชาติสมาชิกของดับเบิลยูทีโอสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติไม่เป็นธรรมทางการค้าของชาติสมาชิกอื่น เพื่อหาทางบรรเทาปัญหาผ่านทางกระบวนการระงับข้อพิพาท

เมื่อดูในแง่กฎหมาย จีนมีโอกาสสูงที่จะเป็นฝ่ายชนะในการยื่นฟ้องครั้งนี้ตามความเห็นของนายหัว เจี้ยนกั๋ว รองประธานสมาคมองค์การการค้าโลกศึกษาในกรุงปักกิ่ง เพราะบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวละเมิดกฎของดับเบิลยูทีโออย่างแน่นอน กฎหมายฉบับนี้ยังถูกสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เองวิจารณ์ยับเช่นกัน


ทว่าในโลกแห่งความจริง อะไรก็เกิดขึ้นได้


ถ้าสหรัฐฯ แพ้และอุทธรณ์คำตัดสิน คดีของจีนก็คงไม่ไปถึงไหน เพราะว่าองค์กรอุทธรณ์ ซึ่งถือเป็นศาลสูงสุดของดับเบิลยูทีโอนั้นไม่มีการปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ปลายปี 2562 แล้ว สาเหตุเนื่องมาจากสหรัฐฯ เป็นคนขัดขวางการแต่งตั้งผู้พิพากษาคณะใหม่นั่นเอง


ที่มา : เอพี/โกลบอลไทมส์



กำลังโหลดความคิดเห็น