รายงานผลการศึกษาของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (ITIF) สถาบันคลังสมองอิสระในกรุงวอชิงตันมดี.ซี. ระบุ จีนมีแรงงานหุ่นยนต์มากกว่าที่คาดไว้ถึง 12½ เท่า แต่ตลาดหุ่นยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ยังตามหลังด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และนวัตกรรม
ITIF ระบุในรายงานว่า สิ่งที่ค้นพบบ่งชี้ว่า แรงงานชาวจีนกำลังถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ในอัตรารวดเร็วที่สุดในโลก ถึงกระนั้นจีนดูเหมือนจะยังไม่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ และการที่บริษัทหุ่นยนต์จีนจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาเท่านั้น
การศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีนของ ITIF อาศัยการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับบริษัทรายใหญ่และข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
การศึกษาพบว่าอัตราการผลิตและการใช้หุ่นยนต์ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่า บริษัทหุ่นยนต์ของจีนน่าจะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมชั้นนำได้ในอีกไม่ช้าโดยเมื่อปี 2560 จีนมีการใช้หุ่นยนต์มากกว่าที่คาดไว้ 1.6 เท่า
ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นกลับมีการใช้หุ่นยนต์ที่ควรถูกนำมาใช้เพียงร้อยละ 70
นายโรเบิร์ต ดี. แอตกินสัน ประธาน ITIF และผู้เขียนรายงานฉบับนี้ระบุว่า จีนเป็นตลาดสำหรับหุ่นยนต์ด้านอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในโลกต่อเนื่อง 8 ปีซ้อน ตามข้อมูลของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ โดยในปี 2565 หุ่นยนต์อุตสาหกรรมร้อยละ 52 ในโลกมีการติดตั้งในประเทศจีน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในช่วง 10 ปีที่แล้ว
ปัจจุบัน จีนมีการใช้หุ่นยนต์ในเศรษฐกิจภาคต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง รวมถึงภาคการผลิต โลจิสติกส์ งานบริการต้อนรับ การดูแลสุขภาพและการก่อสร้าง นายแอตกินสันระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเอื้อต่อการนำหุ่นยนต์มาใช้ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นผู้ซื้อรายใหญ่สำหรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
ในขณะที่สหรัฐฯ แม้ครั้งหนึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ แต่ล้าหลังในการส่งออกไปทั่วโลก เนื่องจากขาดการลงทุนในระยะยาว ปัจจุบันบริษัทหุ่นยนต์ระดับชั้นนำอยู่ในเยอรมนี ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนจีนมีความโดดเด่นในด้านการผลิตและปริมาณการใช้
รายงานยังชี้ว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของจีนยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติมากโข และยังคงต้องอาศัยชิ้นส่วนนำเข้าจำนวนมาก ซึ่งผลิตโดยบริษัทในญี่ปุ่น เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์เป็นส่วนใหญ่
แอตกินสันตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีการเติบโตเชิงบวก แต่จีนยังตามหลังอยู่ 2 เรื่องได้แก่ ซอฟต์แวร์ ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 80 ของมูลค่าหุ่นยนต์ และเป็นตัวสร้างความแตกต่างที่สำคัญในด้านคุณภาพและความสามารถรอบด้านของหุ่นยนต์ ถือเป็นจุดอ่อนสำหรับบริษัทจีน
อีกเรื่องหนึ่งคือนวัตกรรม
ผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติจำนวนมากจากจีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฟานัก ( Fanuc) ในญี่ปุ่น หรือบอสตันโรโบติกส์ (Boston Robotics) ในสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงความโน้มเอียงในการลอกเลียนแบบมากกว่าจะเป็นการพัฒนามาแต่แรกเริ่ม
“บริษัทหุ่นยนต์ของจีนหลายแห่งเป็นบริษัทเครื่องถ่ายเอกสาร” แอตกินสันกล่าว
ที่มา : “China has 12½ times more robots in its workforce than industry experts predicted: report” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์