xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้าง “กำลังผลิตคุณภาพใหม่” โต้ชาติตะวันตกตีข่าวเศรษฐกิจทรุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



CGTN : จีนมุ่งหน้าสร้างกำลังผลิตคุณภาพใหม่ เป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจจีน และทลายการปิดล้อมทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก

ในการประชุมสองสภาของจีนที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีคำสำคัญที่ชี้ทิศทางการพัฒนาของประเทศจีน คือ กำลังผลิตคุณภาพใหม่ หรือ new quality productive force ซึ่งเป็นแนวคิดที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเสนอเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และได้ถูกบรรจุไว้ในรายงานการปฏิบัติงานประจำปีของรัฐบาลจีนในปีนี้ว่าเป็นเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจีนนับจากนี้

“กำลังผลิตคุณภาพใหม่” หมายถึงการสร้างเศรษฐกิจด้วย 3 เป้าหมายหลัก คือ เทคโนโลยีชั้นสูง ประสิทธิภาพสูง และ คุณภาพสูง

นโยบายนี้จะใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำเพื่อสร้างการผลิตที่ทันสมัย และเป็นอิสระจากรูปแบบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิม นวัตกรรมจะเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญ จีนได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง สามารถฝ่ามาตรการปิดล้อมของชาติตะวันตก

อ่านบทความต้นฉบับที่ :China 2024: Recognizing economic realities amidst Western fiction

บรรดาสื่อมวลชนของตะวันตกพยายามประโคมข่าวว่า “เศรษฐกิจจีนกำลังวิกฤต” แต่ในความเป็นจริงแล้วจีนกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

เศรษฐกิจจีนในปีที่แล้วเติบโต 5.2% ยังสูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อยู่ที่2.5% ญี่ปุ่น1.9% ฝรั่งเศส 0.9% ส่วนอังกฤษและเยอรมนีเติบโตติดลบ 0.9% ในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ศักยภาพในการผลิตของจีน หรือ Labour Productivity ในปีที่แล้วเพิ่มสูงถึง 4.8% ขณะที่สหรัฐฯ ติดลบ 0.7% และเยอรมนีติดลบ 0.3%  ศักยภาพในการผลิตของจีนที่เพิ่มขึ้นเพราะจีนได้พัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนไล่กวดบรรดาชาติเศรษฐกิจทุนนิยมชั้นนำมาติดๆ ทั้งๆ ที่ชาติมหาอำนาจมีพัฒนาการมาก่อน และได้ผูกขาดเทคโนโลยีชั้นนำในหลายด้าน

เศรษฐกิจของจีนได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ในปี 2578 ไปตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งหมายถึงจีนสร้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจล่วงหน้าไปแล้ว 15 ปี จีนไม่เพียงแต่สร้างงานในเมืองได้ถึง 11 ล้านตำแหน่งงาน แต่ยังได้แบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือที่เรียกว่า Global South ผ่านโครงการ “หนี่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงริเริ่มขึ้นในปี 2556 โดยจนถึงขณะนี้มีมูลค่าการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์


ชาติตะวันตกตีประเด็นเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีน โดยบอกว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของเศรษฐกิจ และใช้ความเชื่อของตัวเองว่า “ไม่มีประเทศทุนนิยมในโลกที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบนี้ได้ไหว” แต่ว่าจีนไม่ใช่ “ทุนนิยม” เหมือนชาติตะวันตก จีนจึงสามารถจะ “เปลี่ยนผ่าน” รูปแบบเศรษฐกิจได้ แม้ว่าจะมีผลกระทบอยู่บ้าง

ข้อมูลจากธนาคารกลางของจีนระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 การปล่อยเงินกู้ให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตถึง 24.9% ขณะที่เงินกู้ที่ให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตเพียงแค่ 5%

แต่ว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 การปล่อยเงินกู้ของธนาคารจีนได้เปลี่ยนแปลงชนิด “กลับขั้วสลับข้าง” โดยเงินกู้ที่ให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตถึง 34.2% ส่วนเงินกู้ที่ให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตแค่ 4.8% นี่แสดงให้เห็นถึงความพยายามภาคอุตสาหกรรมของจีน ที่เผชิญกับการข่มเหงรังแกทางเทคโนโลยีและการค้าจากสหรัฐฯ

ในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจ จีนได้เร่งการสร้างบริการสาธารณะ เช่น เครือข่ายรถไฟความเร็วสูง และลงทุนอย่างมากในอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน และเมืองอัจฉริยะ นี่คือพลังขับเคลื่อนใหม่ทางเศรษฐกิจที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเรียกว่า “กำลังผลิตคุณภาพใหม่” ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ผสานเทคโนโลยีใหม่เข้ากับทุกกิจกรรมในสังคม

ดังนั้น เป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% ที่นายกฯ หลี่เฉียง ตั้งเป้าไว้นั้นจะบรรลุได้อย่างแน่นอน เพราะว่าจีนมีความได้เปรียบที่ชาติตะวันตกมองข้ามไป ก็คือ
1.จีนมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ และการเงินที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โดยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 96 แห่ง และสถาบันการเงินของรัฐ 144 แห่ง ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนา 2.การประกาศใช้แผนเศรษฐกิจใหม่ที่มีฐานอยู่ที่การใช้นวัตกรรมชั้นนำ เช่น บิ๊กเดต้า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และเครือข่ายการสื่อสาร 5G

จีนจะสามารถรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตามที่ประเทศจีนต้องการ และยังจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาของโลกด้วย ในปี 2567 นี้ จีนจะมีพัฒนาการใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ “กำลังผลิตคุณภาพใหม่”.


กำลังโหลดความคิดเห็น