ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมานานแล้วให้เพิกถอนใบอนุญาตบริษัทอินเทล (Intel) ในการขายหน่วยประมวลผลกลางขั้นสูง หรือซีพียู แก่หัวเว่ยบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนสำหรับใช้ในการผลิตแล็ปท็อป แต่จนแล้วจนรอดผู้นำสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ทำเสียที
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับเรื่องนี้ 2 คนระบุว่า อินเทล หนึ่งในผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกรอดพ้นมาได้จากฝ่ายที่พยายามหยุดยั้งการขายชิปมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ของอินเทลให้แก่หัวเว่ย จึงยังพอมีเวลาที่จะจัดส่งชิปให้แก่บริษัทซึ่งถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอย่างหนักแห่งนี้
แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ (AMD) คู่แข่งของอินเทล และพวกสายเหยี่ยว ซึ่งมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีน เช่น นายมาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน กดดันให้มีการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งออกในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ AMD อ้างเรื่องความอยุติธรรม โดยอินเทลได้รับใบอนุญาต แต่บริษัทของตนกลับไม่ได้
ข้อโต้แย้งของ AMD แสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคและความคลุมเครือที่บริษัทต่างๆ กำลังเผชิญในท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามหาทางจำกัดไม่ให้จีนมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีอันซับซ้อนของฝ่ายตน
การไม่เพิกถอนใบอนุญาตอินเทลทำให้หัวเว่ยสามารถรักษาส่วนแบ่งเล็กๆ แต่กำลังเติบโตในตลาดแล็ปท็อปทั่วโลกไว้ได้ ส่วน AMD บริษัทสัญชาติอเมริกันเหมือนอินเทลชวดเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ที่น่าจะได้จากการขายชิปคล้ายๆ กับของอินเทลให้แก่หัวเว่ย
หัวเว่ยเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสงครามเทคโนโลยีที่ยืดเยื้อมานานหลายปีระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง บริษัทแห่งนี้ถูกรัฐบาลทรัมป์ขึ้นบัญชี “ข้อจำกัดทางการค้า” ในปี 2562 ด้วยข้อกล่าวหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรห้ามทำการค้ากับอิหร่านของสหรัฐฯ แต่หัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหา
ตามปกติแล้วซัปพลายเออร์ในสหรัฐฯ จะถูกห้ามการขายสินค้าใดๆ ก็ตามแก่บริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดังกล่าว แต่ปรากฏว่า เมื่อปลายปี2563 ก่อนทรัมป์พ้นตำแหน่งไม่นาน กระทรวงพาณิชย์กลับให้การอนุญาตเป็นพิเศษแก่บริษัทอเมริกันซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ของหัวเว่ยบางราย ซึ่งรวมถึงอินเทล และควอลคอมม์ สามารถขายสินค้าบางรายการแก่หัวเว่ยได้
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า AMD เคยยื่นขอใบอนุญาตขายชิปซีพียูแก่หัวเว่ยเมื่อต้นปี 2564 หลังจากไบเดนเป็นประธานาธิบดี แต่ไร้การตอบสนอง ส่งผลให้ส่วนแบ่งการขายแล็ปท็อปหัวเว่ยที่ใช้ชิปAMD ดิ่งจากร้อยละ 47.1 ในปี 2563 เหลือร้อยละ 9.3 ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แต่แล็ปท็อปหัวเว่ยที่ใช้ชิปอินเทลพุ่งกระฉูด จากร้อยละ 52.9 เป็นร้อยละ 90.7 ตามข้อมูลของ AMD
กระทรวงพาณิชย์มะกันเคยมีแผนจะเพิกถอนใบอนุญาตอินเทล แต่ปลายปีที่แล้วก็เก็บขึ้นหิ้ง โดยไม่ชี้แจงเหตุผล
มีข้อน่าสังเกตว่า การเลื่อนออกไปเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่วอชิงตันกำลังใช้ความพยายามอย่างมากในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานกับจีน หลังจากสหรัฐฯ ยิงบอลลูนจีน ซึ่งสหรัฐฯ กล่าวหาเป็นบอลลูนสอดแนมตก
อย่างไรก็ตาม ใบอนุญาตอินเทลคาดว่าจะหมดอายุในปลายปีนี้ และคงไม่มีการต่อให้ใหม่ เมื่อถึงตอนนั้นนักวิเคราะห์ของคานาลิส (Canalys) บริษัทวิจัยตลาดเทคโนโลยีชี้ว่า แล็ปท็อปของหัวเว่ยจะเผชิญปัญหาท้าทายไม่น้อย เพราะซีพียูส่วนใหญ่ที่ใช้ในแล็ปท็อปหัวเว่ยนั้นมาจากอินเทล
ข้อมูลจาก “Intel survived bid to halt millions in sales to China's Huawei, sources say” ในรอยเตอร์