xs
xsm
sm
md
lg

“เครนเมดอินไชน่า” งานเข้า! มะกันผวาพญามังกรส่งมาคุกคามความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือของ ZPMC บรรทุกเครนยกตู้สินค้าไปส่งท่าเรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมาริเอลในคิวบาเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2566 - ภาพ : รอยเตอร์
เครนยกขนตู้สินค้า ผลิตโดยบริษัทเซี่ยงไฮ้ เจิ้นหวา เฮฟวี อินดัสทรีส์จำกัด (Shanghai Zhenhua Heavy Industries Co. Ltd. - ZPMC) มีใช้กันอยู่ทั่วไปตามท่าเรือขนถ่ายสินค้าในสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนี้ถูกพญาอินทรีปักธงว่า เป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงของชาติไปเรียบร้อย หลังจากพบพิรุธสำคัญว่ามันอาจไม่ใช่เครนธรรมดาๆ

คณะกรรมาธิการร่วมของสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการสอบสวนและพบหลักฐานว่า มีการติดตั้งโมเดมเครือข่ายเซลลูลาร์บนเครน


การสอบสวนครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลของสหรัฐฯ ที่เห็นจีนผงาดความแข็งแกร่งด้านบริการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยผลการสอบสวนระบุว่า โมเดมนี้ไม่ปรากฏว่ามีส่วนช่วยในปฏิบัติการยกขนตู้สินค้าแต่อย่างใด ทว่ามันอาจรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เข้าออกท่าเรือในสหรัฐฯ และส่งกลับไปยังจีน นอกจากนั้น ยังพบว่าโมเดมเชื่อมต่อกับชิ้นส่วนที่ใช้ในการเดินเครื่องเครน ดังนั้น จึงมีโอกาสที่โมเดมจะถูกใช้เพื่อทำให้เครนใช้การไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือในสหรัฐฯ

ผลการสอบสวนยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานที่ผลิตเครนด้วยว่าอยู่ติดกับอู่ต่อเรือ ซึ่งกองทัพเรือพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้สร้างเรือรบ ที่มีความล้ำหน้าสุด ความใกล้ชิดของสถานที่ดังกล่าวเอื้อโอกาสให้พรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานด้านความมั่นคงของจีนสามารถดัดแปลงเครนเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน เช่น ทำให้ระบบการทำงานที่ท่าเรือของสหรัฐฯ เกิดความบกพร่อง หรือช่วยในการจารกรรมทางไซเบอร์ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางทะเลของสหรัฐฯ เสียหาย โดยคณะกรรมาธิการได้แจ้งข้อวิตกเหล่านี้ทางจดหมายให้บริษัท เซี่ยงไฮ้เจิ้นหวารับทราบเมื่อวันที่ 29 ก.พ.


อย่างไรก็ตาม ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างแคนาดายังคงใช้เครนของเซี่ยงไฮ้เจิ้นหวาที่ท่าเรือต่างๆ ตามปกติ โดยรัฐบาลแคนาดายังไม่ออกมาแสดงความวิตกกังวลเหมือนอย่างสหรัฐฯ


นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน  - ภาพ : เอเอฟพี
ในขณะที่สถานทูตจีนประจำแคนาดาไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว แต่หยิบยกถ้อยคำของนายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ระบุว่า พวกนักการเมืองสหรัฐฯ กำลังต่อต้านการแข่งขัน ความล้ำหน้าอะไรก็ตาม ที่มาจากจีนเป็นภัยคุกคามได้หมด ซึ่งต้องหยุดยั้งทุกวิถีทาง คงมีแต่เสื้อเชิ้ต และถุงเท้ากระมังที่เป็นสินค้าส่งออกประเภทเดียวที่ไม่ข่มขู่คุกคามสหรัฐฯ

“นี่คือการกลั่นแกล้งและวางอำนาจบาตรใหญ่อย่างแท้จริง” นายหวัง กล่าว


จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการที่ดำเนินการสอบสวน บริษัทเซี่ยงไฮ้เจิ้นหวาครองส่วนแบ่งราวร้อยละ 80 ในตลาดเครนยกตู้สินค้าท่าเรือของสหรัฐฯ โดยอาจครองส่วนแบ่งตลาดเท่าๆ กันนี้ในแคนาดา


อเล็กซ์ มันโร โฆษกของการท่าเรือแวนคูเวอร์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ท่าเรือในแคนาดามิได้เป็นเจ้าของ หรือให้บริการขนถ่ายสินค้า ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการสถานีขนถ่ายสินค้า (terminal operators) ในการตัดสินใจเลือกใช้อุปกรณ์


ขณะเดียวกัน ทางด้านผู้ประกอบการสถานีขนถ่ายสินค้าของท่าเรือในแฮลิแฟกซ์ ปรินซ์รูเพิร์ต บริติชโคลัมเบีย และแวนคูเวอร์ เพิ่งประกาศลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทเซี่ยงไฮ้เจิ้นหวาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเครนของบริษัทแห่งนี้เป็นเครื่องจักร "ขั้นสูง" ที่ต้องอาศัยการฝึกอบรมเฉพาะทางเพื่อบำรุงรักษาและใช้งาน

นายเดวิด สกิลลิคอร์น อาจารย์ประจำโรงเรียนการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยควีน ในเมืองคิงส์ตัน รัฐออนแทรีโอ ให้ความเห็นว่า เครนเป็นสิ่งที่เหมาะนำมาใช้ในการแข่งขันด้านอาวุธไซเบอร์ ที่ทวีความรุนแรงในหมู่รัฐบาลชาติต่างๆ โดยทุกวันนี้มีอุปกรณ์ทันสมัยมากมายถูกเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะคาดเดาว่า เครนยกของบนท่าเรือสักแห่งอาจมีโมเดมสื่อสารกับฮับส่วนกลาง แต่เรื่องที่คาดไม่ถึงว่า เครนจะสามารถโทร.ออกผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือไปยังที่ไหนก็ได้ในโลกโดยหลบเลี่ยงไฟร์วอลล์ได้อย่างสิ้นเชิงนี่ต่างหาก ที่ทำให้สภาคองเกรสสหรัฐฯ ไม่แฮปปี้


นายสกิลลิคอร์นชี้ว่า เหตุผลที่บริษัทและรัฐบาลชาติต่างๆ ซื้อเทคโนโลยีของจีนก็เพราะมักจะมีราคาถูกกว่าที่อื่น จึงเปิดโอกาสให้เกิดภัยคุกคามจากการจารกรรมขึ้นได้ในอนาคต


ข้อมูลจาก “Chinese-made cranes used at Canadian ports flagged as security concern by U.S.” ในไฟแนนเชียลโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น