xs
xsm
sm
md
lg

ส่องบทบาท “8 สตรีเรืองนามผู้สร้างแรงบันดาลใจแด่อนุชน” ของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สตรีนั้นแบกฟ้าไว้ครึ่งหนึ่ง" เป็นคำกล่าวของเหมาเจ๋อตง”


ในโอกาส “วันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม” ขอนำเสนอเรื่องราวของวีรสตรีจีนผู้ทุ่มเทส่งเสริมบทบาทและสิทธิสตรีและสร้างแรงบันดาลใจแก่อนุชน โดยขอหยิบยกตัวอย่างสตรี 8 ท่านจากสายอาชีพต่างๆ ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ จากปาฐกถานำหัวข้อ “สตรีเรืองนามของจีน”* ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงแสดงใน "การประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2021" จัดโดยศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชิวจิ่น และอนุสาวรีย์ยกย่องวีรสตรีของท่าน
“แม้นไม่ใช่ผู้ชาย แต่มีจิตใจเข้มแข็งกว่า”


1) “วีรสตรีชิวจิ่น” (秋瑾) ถือว่าเป็นสตรีสมัยใหม่ระหว่างยุคสงครามฝิ่น ท่านนี้คนไทยอาจจะรู้จักเพราะมีซีรีส์โทรทัศน์ที่เล่าเรื่องชีวิตของท่านยาวหลายตอน

ชิวจิ่น เกิดเมื่อ ปี ค.ศ.1875 ในตระกูลผู้มีความรู้แห่งเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน และไปเติบโตที่เมืองเซ่าซิง มณฑลเจ้อเจียง ท่านชิวจิ่นมีความสามารถทั้งด้านหนังสือ ทั้งขี่ม้าใช้ดาบ และหลายๆ อย่างที่ผู้ชายทำได้

เมื่ออายุ 21 ปี บิดาจัดแจงให้ท่านแต่งงานกับบุตรคหบดีชาวหูหนาน แต่แล้วชีวิตสมรสของท่านก็ล้มเหลว ถึงแม้มีลูกชายลูกสาวท่านก็ไม่อยากอยู่กับผู้ชายคนนี้ ภายหลังลูกสาวของท่านเป็นนักบินหญิงคนแรกของจีน

ท่านชิวจิ่นเป็นนักต่อต้านราชวงศ์ชิง หรือพวกแมนจูเพื่อให้ชาวจีนฮั่นกลับมาปกครองประเทศเช่นเดิม ระหว่างไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น (ค.ศ.1904) ท่านก็ร่วมมือกับกลุ่มที่ต่อต้านราชวงศ์ชิง

เมื่อกลับมาแผ่นดินบ้านเกิดท่านได้ทำงานส่งเสริมสิทธิสตรี เช่น ส่งเสริมให้สตรีมีเสรีภาพในการแต่งงาน เสรีภาพด้านการศึกษา ยกเลิกประเพณีเก่าๆ เช่น รัดเท้าผู้หญิง ต้องการให้ชาวจีนฮั่นกลับมาปกครองแผ่นดิน พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมกับประเทศตะวันตก

ในปี ค.ศ.1907 ท่านชิวจิ่นในวัย 31 ปี ถูกประหาร ด้วยการฟันคอ ท่านขอเขียนสั่งเสียญาติๆ แต่ทางการแมนจูไม่อนุญาต

ที่เซ่าซิงได้จัดพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับชีวิตของท่านชิวจิ่น แสดงผลงานต่างๆ ของท่าน ท่านมีพรสวรรค์เขียนพู่กันจีนและแต่งบทกวี มีบทที่เขียนว่าถึงตัวท่านเอง แม้นไม่ใช่ผู้ชาย แต่มีจิตใจเข้มแข็งกว่า

มาดามซ่งชิ่งหลิง และภาพถ่ายคู่กับซุนยัตเซ็น
2) มาดามซ่งชิ่งหลิง (宋庆龄)เกิดปี ค.ศ.1893 ท่านเป็นภริยาของซุนยัตเซ็น ผู้นำการปฏิวัติซินไฮ่ แม้ว่าท่านชิวจิ่นไม่สามารถนำเสรีภาพมาให้ประเทศจีน แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้อนุชนในยุคของซุนยัตเซ็นได้มีกำลังใจต่อสู้ศึกการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงจนสำเร็จในปี ค.ศ.1911 ส่วนมาดามซ่งชิ่งหลิง เข้ามีส่วนร่วมในการปฏิวัติและมีบทบาทอย่างสำคัญทางสังคม เช่น ช่วยเด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษา พยายามรวมชาติรวมแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน

มาดามซ่งชิ่งหลิง เกิดในตระกูลซ่งอันมั่งคั่งและโด่งดัง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเวสเลียน สหรัฐอเมริกา ท่านเคยได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ต่อมาท่านได้ตำแหน่งประธานประเทศกิตติมศักดิ์แห่งสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 สัปดาห์ก่อนที่ท่านถึงแก่อนิจกรรมในปี ค.ศ.1981

มาดามซ่งชิ่งหลิง มีบ้านอยู่ในบริเวณตำหนักที่พระเจ้าผู๋อี๋เคยประทับอยู่ตอนทรงพระเยาว์ ทางการจีนได้จัดเป็น “พิพิธภัณฑ์แสดงประวัติชีวิตมาดามซ่งชิ่งหลิง”

มาดามเติ้งอิ่งเชา
3) มาดามเติ้งอิ่งเชา (邓颖超) เกิดปี ค.ศ.1904 เสียชีวิตในปี ค.ศ.1992) เป็นภริยาของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีท่านแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน มาดามเติ้งเป็นผู้นำสตรีรุ่นแรกสมัยเดินทางไกล (Long March) ที่นำขบวนโดยประธานเหมาเจ๋อตง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอักษรเล่าประสบการณ์ของพระองค์ ดังนี้

“ตอนที่ไปเมืองจีนครั้งแรกปี 1981 นั้นได้พบกับมาดามเติ้งอิ่งเชา ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีน ตอนนั้นเขาบอกว่ามาดามจะมาสักชั่วโมงหนึ่งแล้วก็กลับไป มาดามจะไม่ชนแก้ว มาดามจะไม่ทำโน่นจะไม่ทำนี่ แต่ว่าพอไปถึง มาดามทำทุกอย่างที่เขาบอกว่ามาดามจะไม่ทำ แล้วก็เล่าเรื่องต่างๆ สนุกสนาน พอดีรัฐมนตรีที่ทางการจีนให้ไปดูแลคือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ คือท่านหวังโย่วผิง ท่านเคยเดินทัพทางไกลเหมือนกัน แต่ว่าเป็นทหารขี่ม้าไป ส่วนมาดามเขาช่วยแบกไปเพราะท่านป่วยมากเกือบตลอดทาง เขาบอกว่าผู้หญิงที่ไปเดินทางไกลสำเร็จโดยไม่เสียชีวิต มีน้อยคนมากที่จะทำได้ เพราะว่าต้องหลบหนีสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นระหว่างทาง อดๆ อยากๆ แต่ก็มีชีวิตอยู่ได้จนถึงวัยชรา”

ภาพแต่งงานของโจวเอินไหลกับเติ้งอิ่งเชาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1925
“อีกเรื่องที่น่าสนใจของมาดามคือ บิดาท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเล็ก มีมารดาที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอยู่คนเดียว แต่สามารถส่งให้ลูกเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยได้ ท่านเป็นผู้นำกลุ่มเยาวชนแห่ง “ขบวนการสี่พฤษภาคม” (ค.ศ.1919) และได้ร่วมต่อสู้กับพรรคก๊กมินตั๋งในปี ค.ศ.1927 ทำงานในองค์การเพื่อสิทธิสตรีโดยเฉพาะภารกิจดูแลสวัสดิภาพสตรี เช่น ดูแลการร่างกฎหมายที่ทำให้สตรีได้รับความเสมอภาค สร้างความมั่นใจว่าสตรีมีความสามารถไม่แพ้บุรุษ

ปิงซิน “ขอเพียงมีความรัก”
4) “ปิงซิน” (冰心)เกิด ปีค.ศ.1900 เสียชีวิตใน ค.ศ.1999 “ปิงซิน” เป็นชื่อนามปากกา ชื่อจริงของท่านคือ เซี่ยหว่ายอิ๋ง ( 谢婉莹) เป็นนักประพันธ์ที่โดดเด่นและเป็นนักเขียนวรรณกรรมเด็กและเยาวชนคนแรกของจีน

ท่านเกิดที่เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน ต่อมา ย้ายไปอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง หลังศึกษาจบมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ก็ได้ไปศึกษาต่อด้านวรรณกรรมที่วิทยาลัยเวลลีย์ สหรัฐอเมริกา ได้รู้จักผู้มีชื่อเสียงในวงการวรรณกรรมนานาชาติ เช่น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ รพินทรนาถ ตะกอร์ เป็นต้น

ต่อมา ได้สอนวิชาวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว นับเป็นอาจารย์ต่างชาติหญิงคนแรก ผลงานชิ้นสำคัญของท่าน เช่น แด่ผู้อ่านตัวน้อย เรื่องสั้นคงเฉา (Kongchao-Empty Nest) ได้รางวัลเรื่องสั้นดีเด่นแห่งชาติ ท่านยังได้รางวัลวรรณกรรมหลู่ซวิ่นด้วย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงแปลผลงานของท่านเป็นฉบับภาษาไทย มี “โคมส้มดวงน้อย” และ เรื่อง “หมิงจื่อกับเหมียวน้อยมีจื่อ” เป็นเรื่องที่บรรยายถึงความบริสุทธิ์และความคิดของเด็กๆ

หลินฮุยอิน, ภาพขวา: หลินฮุยอินขณะทำงานที่วัดชิงหลง มณฑลซันตง ปี1936
5) หลินฮุยอิน (林徽因)(1904-1955) เกิดที่เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง สมัยราชวงศ์ชิง เป็นสถาปนิกชาวจีน นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ที่สำคัญคือเป็นกวี เป็นนักเขียน ท่านเรียนจบมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นท่านอยากเรียนสถาปัตยกรรม แต่ว่าเขาไม่ให้ผู้หญิงเรียนจึงต้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วก็พยายามหาความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมเอง สมัยนั้นโดยทั่วไป สตรีไม่ค่อยมีโอกาสในการศึกษามาก แต่ว่าท่านเกิดในครอบครัวที่มีฐานะมั่งคั่งจึงเดินทางไปต่างประเทศกับบิดา และได้ปริญญาทั้งจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ท่านเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกในจีนยุคใหม่ เหลียงซือเฉิงสามีท่านเป็นคนมีชื่อเสียงผู้ได้รับฉายาเป็นบิดาของวิชาสถาปัตยกรรม ได้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มณฑลเหลียวหนิง และที่มหาวิทยาลัยชิงหัว เป็นคนที่อยู่ในทีมออกแบบอาคารสหประชาชาติที่นิวยอร์ก เป็นผู้ออกแบบตราของประเทศ เป็นต้น

หลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว ได้พัฒนาผังเมืองปักกิ่ง และมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมจีน ได้เขียนหนังสือ แปลงานสำคัญๆ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีน รู้จักกับนักวิชาการนานาชาติ เช่น ท่านรพินทรนาถ ตะกอร์ โปรเฟสเซอร์จอห์น แฟร์แบงค์ ถ้าใครเรียนประวัติศาสตร์จีนก็ต้องอ่านหนังสือของท่านจอห์น แฟร์แบงค์

ท่านหลินฮุยอิน เคยเป็นล่ามให้รพินทรนาถ ตะกอร์ ตอนมาเยือนจีน ได้รับความชื่นชมมากเพราะภาษาอังกฤษของท่านดีมาก ชั่วชีวิตท่านไม่ได้รับการยกย่องอย่างที่ควร เป็นเพราะว่าเป็นผู้หญิง แต่ภายหลังมีผู้ศึกษาชีวิตของท่าน แล้ว CCTV สร้างภาพยนตร์สารคดีในปี 2010 และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ลงประวัติของท่านในปี 2018

หลิน เฉี่ยวจื้อ
6) หลินเฉี่ยวจื้อ (林巧稚) (1910-1983) เกิดที่มณฑลเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน เป็นสูตินรีแพทย์ที่มีชื่อเสียงของจีน แล้วก็ศึกษาหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการหายใจของเด็กแรกเกิด เขียนบทความลงนิตยสาร American Journal of Obstetrics and Gynecology ซึ่งค้นได้ในอินเทอร์เน็ต

ในด้านหน้าที่การงาน ท่านเป็นคนแรกที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิงของจีน เป็นต้น

ท่านไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก แต่ทำคลอดเด็กถึง 50,000 คน ได้ฉายาว่าเป็น “มารดาของเด็ก 50,000 คน” ตอนที่ญี่ปุ่นปิดโรงพยาบาล ท่านก็นำผู้ป่วยไปรักษาที่บ้านตนเองรักษาได้ 8,887 เคส

ท่านสอนนักศึกษาเสมอว่าการดูแลผู้ป่วยด้วยตนเองสำคัญกว่าเครื่องมือต่างๆ ทำให้คนไข้รู้สึกถึงความเอาใจใส่

เมื่อเสียชีวิต ท่านได้บริจาคร่างกายให้โรงพยาบาล แล้วก็บริจาคเงินสร้างโรงเรียนอนุบาลและเป็นกองทุนสำหรับให้รางวัลแพทย์ประจำบ้าน การไปรษณีย์จีนออกตราไปรษณียากรเป็นเกียรติแก่ท่าน ณ สวนอี๋ว์ บนเกาะกู่ลั่งอี่ว์ บ้านเกิดของท่านมีอนุสาวรีย์ระลึกถึงท่านด้วย

ศาตราจารย์ ถูโยวโยว
7) ศาตราจารย์ ถูโยวโยว (屠呦呦)เกิดปี ค.ศ.1930 ที่เมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง (ปัจจุบัน อายุ 94 ปี) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงอักษรว่า “ชื่อ โยวโยว เป็นชื่อที่คุณพ่อตั้งมาจากบทกวีซือจิงเป็นเสียงกวางร้องขณะกินใบเฮา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ทราบทำไมมีความบังเอิญที่ท่านได้รางวัลโนเบลจากการค้นคว้าเรื่องใบเฮา หรือชิงเฮาซู่ ที่นำมาใช้รักษาโรคมาลาเรีย”

ภาพปกนิตยสารจีน ศาตราจารย์ ถูโยวโยว รับรางวัลโนเบล จากผลงานค้นคว้าเรื่องพืชสมุนไพรใบเฮา ที่นำมาใช้รักษาโรคมาลาเรีย
ปี ค.ศ.1951 ถูโยวโยว เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งด้านเภสัชวิทยา ค้นคว้ายาที่มาจากวัสดุธรรมชาติ ต่อมาได้เรียนต่อด้านวิจัยยาจีน ระหว่างปฏิวัติวัฒนธรรมท่านถูกผู้นำการปฏิวัติลงโทษ

ท่านได้เข้าร่วมกลุ่มวิจัยยารักษาโรคมาลาเรียและได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ต่อมาได้รางวัลโนเบลในปี 2015 และได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งชาติในวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 70 ปี ในปี ค.ศ.2019

ศาสตราจารย์ ฝานจิ่นซือ ที่ถ้ำโมเกา เมืองตุนหวง ภาพ 29 ก.ย.2015 (แฟ้มภาพ ซินหัว)
8) ศาสตราจารย์ ฝานจิ่นซือ (樊锦诗)เกิดปี ค.ศ.1938 เกิดที่กรุงปักกิ่งไปเติบโตที่นครเซี่ยงไฮ้ เรียนจบด้านโบราณคดีและการพิพิธภัณฑ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ต่อมา ไปทำงานที่ถ้ำตุนหวง 50 กว่าปี จนได้รับการขนามนามเป็น “ธิดาแห่งตุนหวง” ท่านเป็นนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกวัฒนธรรม เป็นผู้อำนวยการตุนหวงระหว่างปี ค.ศ.1998- 2014 โดยท่านเริ่มงานที่ตุนหวงตอนอายุ 25 ปีใน ค.ศ.1963

ภาพปี 1964 ฝานจิ่นซือ (คนแรก ซ้าย) กำลังทำงาน (แฟ้มภาพสถาบันศึกษาตุนหวง)
งานที่น่าสนใจและสำคัญมากคือ ตุนหวงดิจิตอล (Digital Dunhuang)ทำให้สาธารณชนสามารถเยือนถ้ำโมเกา (莫高窟)ได้ทางออนไลน์ การทำงานเป็นผู้อำนวยการถ้ำยากมากเพราะต้องใช้ความรู้หลากหลายด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา ศาสนา วิทยาศาสตร์สำหรับการทำงานอนุรักษ์ อีกทั้งต้องเข้าใจและสามารถสร้างความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยว เผยแพร่ความรู้และการอนุรักษ์โบราณสถานที่เป็นมรดกมนุษย์ชาติ

ท่านได้รับรางวัลหลุยเชวู (Lui Che Woo Prize) จากองค์กรเอกชนในฮ่องกง ต่อมายังได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติระดับชาติในวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 70 ปี

*หมายเหตุ บทความ “สตรีเรืองนามของจีน” ฉบับเต็ม โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นี้ ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ
“สตรีในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน” จัดพิพม์โดยสำนักพิมพ์ชวนอ่าน ปี 2564



กำลังโหลดความคิดเห็น