จีนเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ เสนอเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมในปี 2567 เป็นเงินจำนวน 1.66554 ล้านล้านหยวน (231,360 ล้านดอลลาร์) ซึ่งเพิ่มอีกร้อยละ 7.2 จากปีก่อน
การเสนอร่างงบประมาณกลาโหมดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง กล่าวรายงานผลการทำงานของรัฐบาลในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาในการเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) เมื่อวันอังคาร (5 มี.ค.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นับตั้งแต่สี จิ้นผิง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมานานกว่า 10 ปี งบกลาโหมของจีนก็โป่งพองมากกว่า 2 เท่า โดยเปรียบเทียบร่างงบกลาโหมของจีนในปี 2567 ดังกล่าวกับงบในปี 2556 จำนวน 720,000 ล้านหยวน
รอยเตอร์ยังระบุว่า ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง การเพิ่มงบกลาโหมมีสัดส่วนสูงกว่าการตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่เสมอ โดยรัฐบาลจีนคาดการณ์เศรษฐกิจจีนเติบโตในปี 2567 ไว้ที่ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งคล้ายกับในปีที่แล้ว
ด้านโกลบอลไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อของทางการจีน รายงานโดยอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์จีนหลายคน ที่ระบุว่า การเพิ่มงบกลาโหมตามที่เสนอในปีนี้เป็นตัวเลขในระดับปานกลาง โดยงบกลาโหมของจีนเติบโตด้วยตัวเลขหลักเดียวติดต่อกันมา 9 ปีนับตั้งแต่ปี 2559 อัตราการเติบโตยังตั้งไว้ที่ร้อยละ 7.2 ในปี 2566 และอยู่ระหว่างร้อยละ 6-8 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นายจาง จวิ้นเซ่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารระบุว่า เป็นพัฒนาการด้านการป้องกันประเทศที่สมเหตุผล ยับยั้งชั่งใจ และไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงด้านการปรับปรุงกองทัพไปสู่ความทันสมัย สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงภายนอกประเทศ และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีหลายชาติเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารมากกว่าจีน โดยการใช้จ่ายด้านกลาโหมของจีนโดยทั่วไปคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.3 ของจีดีพีของประเทศ ในขณะที่จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะนั้นสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.5 และจากตัวเลขที่ระบุเป็นแนวทางนั้น ชาติสมาชิกองค์การนาโต้อยู่ที่ร้อยละ 2
ทั้งนี้ จากรายงานของสื่อตะวันตก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกาอนุมัติการใช้จ่ายทางทหารสูงเป็นประวัติการณ์จำนวน 886,000 ล้านดอลลาร์สำหรับปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมากกว่าจีนเกือบ 4 เท่า ส่วน ครม.ญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณกลาโหมมากถึงร้อยละ 16 สำหรับปี 2567 อีกทั้งมีการผ่อนคลายการห้ามส่งออกอาวุธร้ายแรง ซึ่งเป็นข้อห้ามที่เคยประกาศใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอกย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงจากหลักการป้องกันตนเองของญี่ปุ่น
ในรายงานการทำงานของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีหลี่แถลงครั้งนี้ รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่าจีนมีการใช้ภาษาแข็งกร้าวขึ้นต่อกรณีไต้หวัน เมื่อเสนอร่างงบประมาณกลาโหม โดยไม่เอ่ยถึง “การรวมชาติอย่างสันติ”
หลี่ หมิงเจียง นักวิชาการด้านกลาโหมของสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศราชารัตนัม (Rajaratnam School of International Studies) ในสิงคโปร์มองว่าการใช้จ่ายด้านกลาโหมของจีนคำนึงเรื่องไต้หวันเป็นสำคัญ โดยใน 10 ปีข้างหน้าจีนต้องการขยายกำลังทหารจนถึงจุดที่เตรียมพร้อมชนะสงคราม ถ้าไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากต้องสู้รบ
ขณะที่สถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (IISS) ในกรุงลอนดอนระบุว่า จีนมีแนวโน้มใช้งบประมาณก้อนใหญ่ในการจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ เพื่อปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2578 ตามเป้าหมายของสี จิ้นผิง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญของจีนหลายคนมีความเห็นว่า การเพิ่มงบประมาณกลาโหมของจีนเป็นสิ่งจำเป็นท่ามกลางสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ซึ่งการมีกองทัพจีนที่แข็งแกร่งกลับจะมีส่วนช่วยรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ตลอดจนช่วยถ่วงดุลอำนาจในโลก ยกตัวอย่างการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ การส่งกองเรือคุ้มกันในอ่าวเอเดนและน่านน้ำนอกฝั่งโซมาเลีย รวมถึงปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาทุกข์ การมีงบประมาณกลาโหมอย่างเพียงพอย่อมช่วยให้กองทัพจีนสามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบและพันธกรณีระหว่างประเทศได้
จาก “China raises defense budget by 7.2% for 2024, 'conducive to peace, stability” ในโกลบอลไทมส์
“China drops 'peaceful reunification' reference to Taiwan; raises defence spending by 7.2%” ในรอยเตอร์