การประชุมสองสภา ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ประจำปีของจีนเปิดฉากขึ้นแล้ว โดยการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน (CPPCC) มีขึ้นในวันจันทร์ (4 มี.ค.) และการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) เริ่มขึ้นในวันอังคาร (5 มี.ค.)
การประชุมสองสภาเป็นกระบวนการทางการเมืองของจีนที่จัดขึ้นตามปกติทุกปี และในปีนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษจากทุกภาคส่วนของสังคมและจากนานาชาติว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และเหล่าผู้นำจีนจะส่งสัญญาณใดบ้างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม รวมถึงการขจัดข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาท้าทายต่างๆ ที่จีนกำลังเผชิญ
เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก กำลังประสบปัญหาการฟื้นตัวไม่ได้ตามเป้าหมาย ภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยเศรษฐกิจแดนมังกรถูกรุมเร้าด้วยปัญหาวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินมโหฬารของรัฐบาลท้องถิ่น ภาวะเงินฝืด นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนในตลาดหุ้น และผลกระทบจากความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ
การประชุมของทั้งสองสภา ซึ่งนับเป็นชุดที่ 14 จะดำเนินเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยในส่วนของสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติจะมีการพิจารณาเรื่องหลักๆ เช่น รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลในปีที่แล้ว ซึ่งจะนับเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนคือนายหลี่ เฉียง ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน มี.ค.2566 จะได้แถลงผลการทำงานของรัฐบาล การพิจารณารายงานผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมาของงานด้านอื่นๆ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การใช้จ่ายงบประมาณส่วนกลางและท้องถิ่น การพิจารณาร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงร่างงบประมาณส่วนกลางและท้องถิ่นสำหรับปี 2567 ตลอดจนการพิจารณารายงานการทำงานของศาลประชาชนสูงสุด และอัยการสูงสุด
สำหรับในส่วนของการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาด้านการเมืองสูงสุดของประเทศนั้น จะพิจารณาทบทวนผลการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นให้คำแนะนำเพื่อการสร้างความทันสมัยแก่จีน โดยเศรษฐกิจถือเป็นประเด็นสำคัญในการให้คำปรึกษา
การประชุมสองสภาในปีนี้ยังมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าเป็นการประชุมในโอกาสครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งสภาประชาชนแห่งชาติ และครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน
นายจาง อี้อู่ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเมืองแห่งชาติผู้หนึ่ง ระบุว่า การประชุมสองสภาเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอประชาธิปไตยของประชาชนทั้งกระบวนการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ร่างกฎหมายและที่ปรึกษานโยบายชั้นนำของจีนให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยพยายามทำความคาดหวังของประชาชนให้กลายเป็นความจริง
จากการสำรวจโดยสื่อจีนระหว่างวันที่ 5-25 ก.พ. โดยมีผู้เข้าร่วม 6 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นคน พบคำว่า หลักนิติธรรม การจ้างงาน การรักษาพยาบาล และการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง ติดอยู่ใน 10 คำศัพท์ยอดฮิตที่ชาวเน็ตมีความวิตกกังวลมากที่สุด
ที่มา : ซินหัว/โกลบอลไทมส์/ซีเอ็นเอ็น