ไชน่ามีเดียกรุ๊ป (CMG) กิจการแพร่สัญญาณของรัฐบาลจีน เริ่มนำเชียนชิว ซือซ่ง การ์ตูนแอนิเมชันฝีมือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เรื่องแรกแห่งแดนมังกร ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์
เชียนชิว ซือซ่ง 《千秋诗颂》นำเสนอเรื่องราวบทกวีคลาสสิกของจีน รวมทั้งหมด 26 ตอน ประมาณ 7 นาทีในแต่ละตอน โดยใช้ เจเนอเรทีฟเอไอ หรือเจนเอไอ (Generative AI - GenAI) สร้างในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การออกแบบงานศิลป์ไปจนถึงการสร้างวิดีโอ และกระบวนการภายหลังการผลิต
เจนเอไอที่นำมาใช้เป็นผลงานการพัฒนาร่วมกันระหว่าง ห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Artificial Intelligence Laboratory ) กับ CMG โดยอาศัยเทคโนโลยีเอไอของห้องปฏิบัติการ ร่วมกับซอฟต์แวร์ CMG Media GPT ของ CMG มีการเปิดตัวเจนเอไอนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2566
CMG Media GPT เป็นซอฟต์แวร์การสร้างวิดีโอจากการป้อนคำสั่งข้อความ ซึ่งคล้ายกับซอฟต์แวร์โซราของบริษัทโอเพ่นเอไอ
นักวิจัยของห้องปฏิบัติการเปิดเผยว่า CMG Media GPT สามารถเรียนรู้บทกวีโบราณได้ด้วยการป้อนข้อมูลจำนวนมากมาย เป็นข้อมูลรายการทีวีในอดีตของ ซีซีทีวี ที่เกี่ยวกับบทกวี ซึ่งมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง มันจึงสามารถสร้างงานศิลป์และฉากเคลื่อนไหว ปรากฏในรูปแบบของภาพวาดพู่กันหมึกจีนโบราณ สร้างสถาปัตยกรรมและลักษณะของผู้คนได้อย่างสอดคล้องกับยุคสมัย นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีเอไอสามารถบีบอัดเวลาในการสร้างการ์ตูนแอนิชันให้น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้กำกับ เชียนชิว ซือซ่ง ซึ่งไม่เปิดเผยนาม ระบุว่า เอไอจะไม่มาแทนที่มนุษย์ แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้เรา ยกตัวอย่าง ทีมงานของเขาเคยใช้เวลาสร้างหนังตอนละเดือน แต่เดี๋ยวนี้เดือนละ 3 ตอนจากการช่วยเหลือของเอไอ
เชียนชิว ซือซ่ง นับเป็นผลงานจากความมุ่งมั่นของ CMG ที่ประกาศว่าจะเปิดรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อก้าวสู่การเป็นสื่อกระแสหลักระดับสากลรูปแบบใหม่
การออกอากาศการ์ตูนแอนิเมชันเรื่องแรกของจีนซึ่งสร้างด้วยเทคโนโลยีเอไอ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหลายของจีนมีบทบาทนำร่องในการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ในธุรกิจ
นักสังเกตการณ์ด้านอุตสาหกรรมมองว่า ปรากฏการณ์เชียนชิว ซือซ่ง อาจเร่งให้มีการใช้โปรแกรมการแปลงข้อความเป็นวิดีโอกันมากขึ้นในประเทศจีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสำหรับการสร้างภาพยนตร์และละคร การพัฒนาเกม และการโฆษณา
ขณะที่ชาวเน็ตมากมายแสดงความเห็นบนแพลตฟอร์ม เว่ยปั๋ว ว่า การ์ตูนแอนิเมชันที่สร้างโดยเอไอเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนที่ชาญฉลาด เพราะเทคโนโลยีล้ำสมัยสามารถเติมชีวิตใหม่ให้บทกวีและโคลงกลอนโบราณ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของจีนควรพยายามให้มากขึ้นเพื่อก้าวตามโมเดลเอไอชั้นนำของโลกให้ทัน
ที่มา : โกลบอลไทมส์ / เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์