ทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ที่มีราคาแพงระยับในจีน สนนราคาของทุเรียนที่ขายบนแดนมังกรขณะนี้ตกราว 100-200 หยวน (500-1,000 บาท)
เจ้า อี้ว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในนครเซี่ยงไฮ้ วัย 37 ปี เปิดเผยว่า เธอยอมซื้อทุเรียนมากล่องหนึ่งในราคา 400 หยวน (2,000 บาท) เพื่อจะได้ลิ้มลองรสชาติที่แตกต่างกัน คิดราคาเฉลี่ย 28 หยวน (140 บาท) ต่อครึ่งกิโลกรัม
“ถ้าทุเรียนอยู่ใกล้บ้านและราคาเป็นที่ยอมรับได้ ฉันก็จะลองชิมดูค่ะ”
อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วเธอถือว่า ราคา “ไม่ถูก” และอยากได้ทุเรียนจากหลากหลายแหล่งที่มามากกว่าที่เป็นอยู่
ผู้บริโภคบางคนให้ความเห็นว่า ทุเรียนมีราคาแพง และที่ซื้อไปแต่ละครั้งคุณภาพเอาแน่นอนไม่ได้
หวัง ฮุย หญิงวัย 44 ปีในกรุงปักกิ่งเล่าว่า ด้วยความที่มีราคาแพงมาก ฉะนั้น ถ้าใครซื้อทุเรียนได้ลูกไม่ดีไป อารมณ์จะขึ้นกันเลยทีเดียว
เธอสงสัยว่าความแตกต่างด้านคุณภาพน่าจะเกี่ยวข้องกับฤดูกาล และจะแฮปปี้ถ้าได้เลือกซื้อทุเรียนจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์มากขึ้น
นายเจ้า จี่จวิ้น อาจารย์ด้านการเงินแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินในกรุงปักกิ่งระบุว่า ถ้าจีนเพิ่มการนำเข้าจะช่วยฉุดให้ราคาทุเรียนถูกลงได้ ในขณะที่ตลาดทุเรียนในจีนยังไม่อิ่มตัว และมีโอกาสขยายเติบโต โดยจีนสามารถรองรับการขนส่งเพิ่มจากเวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์ได้ไม่ยาก จุดมุ่งหมายของชาติทั้งสามคือช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนที่ไทยครองอยู่ร้อยละ 68 ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทุเรียนกลายเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ชนชั้นกลางแดนมังกรชื่นชอบ บางครั้งก็เป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับคู่บ่าวสาวและแม่สามีในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จีนยังไม่มีความสามารถในการปลูกทุเรียนเทียบเท่าชาติอาเซียน
ขณะที่มาเลเซียในปัจจุบันได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนแช่แข็งไปจีนได้เท่านั้น แต่กำลังพิจารณาข้อตกลงที่จะเริ่มจัดส่งทุเรียนสดในปีนี้ ด้านเกษตรกรก็ภาคภูมิใจในทุเรียนพันธุ์มูซังคิงว่ามีรสชาติหวานอร่อยไม่แพ้ใคร
กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของมาเลเซียระบุเมื่อปีที่แล้วว่า จะสามารถส่งทุเรียนไปจีนได้ 22,000 ตันภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นจาก 236 ตันในปี 2561
เวียดนามอนุมัติการขายทุเรียนสดในปี 2564 ทำให้มีส่วนแบ่งในตลาดจีนร้อยละ 31.82 เมื่อปีที่แล้ว จีนนำเข้าทั้งหมด 1 ล้าน 4 แสนตันในปี 2566
ส่วนฟิลิปปินส์ หน่วยงานรัฐบาลระดับชาติและระดับท้องถิ่นกำลังทำงานเพื่อเพิ่มการผลิตทุเรียนจากราว 7,500 ไร่ เป็น 18,750 ไร่ บนเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ ทุเรียนฟิลิปปินส์มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของการนำเข้าทั้งหมดของจีนในปี 2566 ผู้เชี่ยวชาญของฟิลิปปินส์ยอมรับว่า เทคโนโลยีการปลูกทุเรียนและผลผลิตยังสู้มาเลเซียและไทยไม่ได้
อาจารย์เจ้า แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินชี้ว่า เมืองทางภาคเหนือของจีนสามารถรองรับทุเรียนนำเข้าได้อีกมาก และทั่วทั้งประเทศยังไม่มีการนำทุเรียนมาทำเป็นอาหารว่างและเครื่องดื่ม ความชื่นชอบรสชาติทุเรียนที่หลากหลายของผู้บริโภคจะเปิดตลาดให้ทุเรียนพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งหมายความว่าตลาดจีนยังมีพื้นที่ว่างเหลือเฟือสำหรับการนำเข้าทุเรียนจากส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายวิกเตอร์ เกา รองประธานศูนย์จีนและโลกาภิวัตน์ (Center for China and Globalization) มองว่า ความแพร่หลายของอีคอมเมิร์ซและบริการจัดส่งถึงบ้านจะเพิ่มการบริโภคทุเรียนทั่วประเทศและทำให้ทุเรียนราคาถูกลง แต่สำหรับฟิลิปปินส์นั้น ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับจีนอาจเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มการนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ได้
จาก “Who will be China's durian king when the market expands? Do Philippines, Malaysia have a chance?” ใน BusinessNews