รถยนต์หรูหลายพันคันในเครือโฟล์คสวาเกนบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีถูกยึดที่ท่าเรือสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องสงสัยว่าผลิตขึ้นมาจากการบังคับใช้แรงงานชนเชื้อสายอุยกูร์ในภูมิภาคซินเจียงของจีน
สหรัฐฯ ห้ามการนำเข้าสินค้าซึ่งทำจากการบังคับใช้แรงงานในซินเจียงภายใต้กฎหมายต่อต้านการบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรสในปี 2564
ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า แบรนด์รถของโฟล์คสวาเกนคือรถปอร์เช่ราวหนึ่งพันคัน เบนต์ลีย์หลายร้อยคัน และอาวดี้อีกหลายพันคัน ติดอยู่ที่ท่าเรือ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากโฟล์คสวาเกนถูกโจมตีว่า ได้รับประโยชน์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซินเจียง โดยมีการอ้างว่า มีการบังคับใช้แรงงานชาวมุสลิมอุยกูร์ให้สร้างสนามทดสอบขนาดใหญ่ในแอ่งทูร์ปัน หรือถูหลู่ฟาน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศร้อนจัดที่สุดในจีน จนผู้คนในท้องถิ่นพากันเรียกบริเวณแห่งนี้ว่า เตาอบ โดยในฤดูร้อนอุณหภูมิอากาศอาจพุ่งสูงถึง 80 องศาเซลเซียส
สื่อจีนเคยรายงานเมื่อปี 2562 ว่า สนามทดสอบแห่งนี้ใช้เวลาเกือบ 3 ปี ในการก่อสร้าง ครอบคลุมพื้นที่กว้างเท่ากับสนามฟุตบอล 3,270 แห่งรวมกัน
ขณะที่หนังสือพิมพ์ฮันเดลสบลัตต์ (Handelsblatt) ของเยอรมนีระบุว่า ปรากฏภาพถ่ายคนงานชาวอุยกูร์ในชุดเครื่องแบบทหาร ซึ่งเป็นร่องรอยบ่งชี้ได้ว่า คนเหล่านี้อยู่ในโครงการบังคับใช้แรงงาน
นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตซึ่งเป็นเครื่องยืนยันอีกอย่างหนึ่งคือบริษัทของรัฐ ซึ่งเป็นผู้สร้างสนามทดสอบแห่งนี้ได้เขียนรายงานระบุว่า คนงานต้องสแกนดวงตาและมีการแชร์ข้อมูลกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อ "เสริมสร้างจิตสำนึกด้านอุดมการณ์"
เมื่อวันพุธ (14 ก.พ.) โฟล์คสวาเกนกล่าวว่า กำลังพิจารณาเกี่ยวกับอนาคตการทำกิจการร่วมค้ากับเอสเอไอซีมอเตอร์ (SAIC Motors) ของจีนในภูมิภาคซินเจียง
โฟล์คสวาเกนเคยออกมาปฏิเสธเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่า ธุรกิจในซินเจียงของบริษัทมีความเกี่ยวข้องกับการกวาดล้างชาวอุยกูร์อย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลจีน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยระบุว่าการรณรงค์ประหัตประหารชาวอุยกูร์ในซินเจียง ซึ่งมีรายงานว่ารวมถึงการเข้าค่ายปรับทัศนคติ และแม้แต่การบังคับทำหมัน ถือเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ที่กำลังดำเนินอยู่
โฟล์คสวาเกนเป็นบริษัทเยอรมนีเหลืออยู่ไม่กี่แห่งที่ตั้งโรงงานในซินเจียง โดยบีเอเอสเอฟ (BASF) บริษัทเคมีภัณฑ์รายใหญ่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กำลังถอนตัวออกมา หลังจากเจอข้อกล่าวหาใช้แรงงานทาสในกิจการร่วมค้า บีเอเอสเอฟยืนกรานว่าเป็นการตัดสินใจด้วยเหตุด้านการค้า แต่ยอมรับว่า สถานการณ์ในท้องถิ่นก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วย
บริษัทในเยอรมนีเผชิญแรงกดดันทางการเมืองให้ปรับลดขนาดธุรกิจในจีน อันเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลปักกิ่งในซินเจียง อย่างไรก็ตาม จีนปฏิเสธข้อกล่าวหากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงของชาติตะวันตก
ที่มา : เดอะเทเลกราฟ