โอกาสที่ไต้หวันจะสูญเสียชาติพันธมิตรทางการทูตจนเหลือไม่กี่ประเทศหรือไม่เหลือเลยนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น
ตูวาลู และกัวเตมาลาอาจเดินตามรอยนาอูรู ที่เพิ่งหันไปซูฮกจีนเมื่อเดือน ม.ค ที่ผ่านมา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ไต้หวันจะเหลือมิตรอยู่แค่ 10 ชาติ ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย โดยในจำนวนนี้รวมถึงนครวาติกัน
เมื่อปลายเดือนที่แล้วนายกรัฐมนตรีของตูวาลู ซึ่งสนับสนุนไต้หวันพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ส่วนรัฐบาลใหม่ของกัวเตมาลาก็มีแผนพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน โดยอาจจัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมผลประโยชน์ทางการค้า” ร่วมกันเพื่อหาตลาดให้สินค้าจากกัวเตมาลา
ขณะที่รัฐบาลจีนแสดงท่าที่ว่า กัวเตมาลาต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันแล้วเท่านั้นจึงจะสานสัมพันธ์ทางการค้าด้วย
นายจอห์นนี่ เฉียง รองประธานสภานิติบัญญัติมังกรน้อยออกมาเตือนรัฐมนตรีต่างประเทศที่ยังใจเย็นว่า หากรักษาพันธมิตรที่เหลือ 12 ชาติไว้ไม่ได้ ไต้หวันก็จบเห่ กลายเป็นเด็กกำพร้านานาชาติไปเท่านั้นเอง
แต่ประชาชนส่วนใหญ่บนเกาะมังกรน้อยดูเหมือนไม่สะทกสะท้านกับการสูญเสียความสัมพันธ์ทางการทูตกับมิตรประเทศไปทีละน้อย
“มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เราเคยเห็นแบบนี้มาแล้วในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา” นายโฮ หมิง-อี้ วิศวกรซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ให้ความเห็น
เขามองว่า ตราบใดที่ไต้หวันยังอยู่ในสายตาของนานาประเทศ การสูญเสียชาติยากจนอย่างนาอูรู หรือกัวเตมาลากลับเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะไต้หวันจะได้ไม่ต้องเสียเงินลงทุนให้ชาติเหล่านี้
ผลสำรวจส่วนใหญ่ในไต้หวันแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ชาวไต้หวันร้อยละ 80 เชื่อว่าปักกิ่งควรถูกประณามที่ทำให้ชาติพันธมิตรไต้หวันแปรพักตร์ แต่ก็มีอย่างน้อยร้อยละ 60 ที่ยังคงเฉยๆ กับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากมิตรประเทศหดหาย
นายหวง ขุยปั๋ว อาจารย์ด้านการทูตของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อเรียกร้องให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ของไต้หวันรับผิดชอบกับเรื่องที่ประชาชนไม่รู้สึกทุกข์ร้อนนี้ เพราะพรรคเองที่เป็นคนเฝ้าบอกกับประชาชนว่า ปักกิ่งทำให้ไต้หวันสูญเสียพันธมิตร แต่มิได้อธิบายผลลัพธ์จากการสูญเสียนี้ว่า หากพันธมิตรทางการทูตของไต้หวันเหลือเป็นศูนย์ ในแง่กฎหมายไต้หวันจะรักษาอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจการปกครองสูงสุดต่อไปไม่ได้ เพราะจะไม่มีชาติใดในโลกอีกแล้วที่ให้การยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ
นายแม็กซ์ โล ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของไต้หวัน ชี้ว่า การรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรรายใหญ่เอาไว้ย่อมดีกว่าการรักษาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับชาติเล็กๆ ที่ยากจน นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เนื่องจากชาติเหล่านี้ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน จึงไม่สามารถให้การยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศได้ แต่พันธมิตรทางการทูตชาติเล็กๆ ต่างหากที่เป็นปากเป็นเสียงในสหประชาชาติแทนไต้หวัน
ทั้งนี้ นาอูรูซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2567 เพียง 2 วัน เชื่อกันว่า นี่คือการตอบโต้จากปักกิ่งสำหรับชัยชนะของนายวิลเลียม ไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคดีพีพี ผู้ฝักใฝ่เอกราชไต้หวัน ปักกิ่งเรียกนายไล่ว่า “นักแบ่งแยกดินแดนหัวดื้อรั้น” ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดสงคราม โดยปักกิ่งไม่ปฏิเสธการใช้กำลังทหารหากจำเป็นในการผนวกไต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีน
อ้างอิงข้อมูลจาก “As Guatemala considers trade ties with mainland China, Taiwanese warned to worry about loss of allies” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์