แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือที่กำลังเฟื่องฟูบนแดนมังกรมีส่วนกระตุ้นให้คนจีนอยากเพิ่มประสบการณ์ท่องเที่ยววันหยุดในหลายประเทศทั่วโลก นอกเหนือจากนโยบายฟรีวีซ่าที่กระตุ้นให้การท่องเที่ยวเพิ่มความคึกคักอย่างรวดเร็วทันตาเห็น
ซินดี้ หลิว ชาวกรุงปักกิ่งผู้หลงใหลการท่องเที่ยวเกาะต่างๆ เดินทางถึงภูเก็ตเมื่อวันพุธ (7 ก.พ.) เธอเดินทางมาประเทศไทยบ่อยครั้งและจะเลือกสถานที่เที่ยวโดยดูจากว่าสามารถใช้จ่ายผ่าน อาลี (Alipay) หรือวีแชตเพย์ (WeChat Pay) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินในประเทศจีนได้หรือไม่ เช่น การจองโรงแรม เรียกรถรับส่ง การซื้อของตามซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าปลอดภาษี หรือแม้กระทั่งการรับประทานอาหารในร้านเล็กๆ
เธอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นความสะดวกสบายที่มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากชาวจีนคุ้นเคยกับการชำระเงินดิจิทัลกันแล้ว โดยหลิวจะแลกเปลี่ยนเงินสดสำรองไว้บ้าง แต่ไม่พกติดตัวมากเกินไประหว่างเดินทาง
นายหวัง เผิง ผู้ช่วยนักวิจัยของสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีนระบุว่า ด้วยข้อได้เปรียบที่จีนลงมือทำด้านอุตสาหกรรมการเงินดิจิทัลก่อนใคร แพลตฟอร์มชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ และบทบาทของเงินหยวนดิจิทัลของจีนจึงขยายไปในต่างประเทศอย่างรวดเร็วช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ยกตัวอย่าง บริษัท แอนต์กรุ๊ป (Ant Group) เริ่มรุกเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างประเทศราว ปี 2559 มีการร่วมมือกับแอสเซนด์มันนี (Ascend Money) แพลตฟอร์มชำระเงินดิจิทัลของไทย และจีแคช (GCash) เจ้าของธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเล็ต) รายใหญ่สุดในฟิลิปปินส์ นอกจากนั้น บริการอาลีเพย์พลัส (Alipay+) ขณะนี้ยังสามารถรองรับการชำระเงินของกลุ่มลูกค้าหลากหลายประเทศ ซึ่งกดชำระเงินผ่านอีวอลเล็ตในประเทศของตนเอง เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ ขณะที่ในส่วนของอาลีเพย์ มีการร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีร้านค้าเข้าร่วมกับอาลีเพย์มากกว่า 5 ล้านแห่งทั่วโลก และนักท่องเที่ยวชาวจีนพอใจบริการเรียกแท็กซี่แบบครบวงจรในกว่า 2,000 เมืองทั่วโลก
สำหรับเงินหยวนดิจิทัลของจีนขยายบทบาทมากขึ้นในโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในเดือน ธ.ค.2566 จีนกับสิงคโปร์ยังริเริ่มโครงการนำร่องอนุญาตให้นักท่องเที่ยว 2 ฝ่ายใช้เงินหยวนดิจิทัลของจีนสำหรับใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน
นายหวัง มองว่า บริษัทการเงินดิจิทัลของจีนมีโอกาสเติบโตในตลาดโลก โดยขีดความสามารถที่แข็งแกร่งของบริษัทเหล่านี้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น บล็อกเชนและปัญญาประดิษฐ์ ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ นอกจากนั้น ความก้าวหน้าของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ตลอดจนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับชาติหุ้นส่วนยังเป็นปัจจัยหนุน
รายงานของมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์กลาง (Central University of Finance and Economics) ของจีนเมื่อเดือน ธ.ค.2566 ระบุว่า จีนเป็นชาติยื่นจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงินมากเป็นอันดับหนึ่งจากทั้งหมดกว่า 50 ประเทศและภูมิภาค โดยจีนยื่นจดสิทธิบัตร 107,000 ฉบับ จากทั้งหมด 190,000 ฉบับในระหว่างเดือน ม.ค.2561 ถึง ต.ค.2565
จาก “Chinese digital finance goes global, enabling tourists to travel abroad with ‘one wallet” ในโกลบอลไทมส์